หน้าเว็บ

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล Interpersonal



ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

ในชีวิตของเราต้องสัมพันธ์อยู่กับบุคคลหลายประเภท แต่ละประเภทล้วนมีปทัสถานใน การปฏิบัติต่างกันออกไป นักวิชาการได้จัดจำแนกประเภทความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยอาศัยระดับความ สัมพันธ์เป็นเกณฑ์ จากผิวเผินไปสู่ลึกซึ้ง การจัดประเภทเช่นนี้จะทำให้เรารู้ล่วงหน้าว่าจะ คาดหวังอะไรจากกันและกันได้และจะเตรียมตัวติดต่อกันอย่างไรจึงจะไม่เกิด ปัญหา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในที่นี้จำแนกเป็น 3 ระดับ คือ

 1. คนรู้จัก คนรู้จักนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ผิวเผิน การสื่อสารกันมักเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงและจาก ข้อเท็จจริงก็จะประเมินว่า ควรจะสร้าง ความสัมพันธ์ ในระดับต่อไปหรือไม่ คนรู้จักกันนั้นจะใช้ยุทธวิธีในการสื่อสารเพื่อหาข้อเท็จจริงจากกันและกันใน 3 ประเภท
  • ประเภทแรก เป็นการตั้งรับ หมายถึง ใช้การสังเกตการกระทำของคนอื่นแทนที่จะซักถามหรือเข้าไปร่วมในสถานการณ์
  • ประเภทที่สอง แบบรุก หมายถึง การเข้าไปจัดการกับสถานการณ์ทางสังคมเพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น เช่น ใช้การคุย การถาม หรือการสัมภาษณ์
  • ประเภทที่สาม แบบปฏิสัมพันธ์ หมายถึง ใช้การสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยน ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นระหว่างกันและกัน ควบคู่กันไปกับการสังเกต (Berger,1978)
จากข้อมูลที่ได้มาไม่ว่าจะโดยวิธีใด คนเราจะใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อกรองว่าเราจะสัมพันธ์กับคนผู้นั้นต่อไปใน ระดับใด ความสัมพันธ์อาจเป็นไปในระดับเดิมหรือเพิ่มระดับไปสู่ความลึกซึ้ง หากข้อมูลที่รับมาก่อให้เกิดความพอใจ แต่หากข้อมูลที่รับมาเป็นข้อมูลที่ไม่น่าพอใจเราก็อาจเลือกที่จะไม่พบกันต่อ ไปอีก
 2. เพื่อน คำว่าเพื่อนเป็นคำที่พูดง่ายแต่ให้ความหมายยาก เพราะเพื่อนเป็นบทบาทที่เกิดขึ้นได้ในคู่สัมพันธ์ทุกประเภท ตั้งแต่เพื่อน กับเพื่อนจริง ๆ เพื่อนในระหว่างสามีภรรยา นายกับลูกน้อง ครูกับศิษย์ หรือแม้แต่พ่อแม่กับลูก เมื่อเอ่ยถึงคำว่าเพื่อน นักมนุษยสัมพันธ์ได้เสนอว่า หมายถึงความสัมพันธ์ที่มีลักษณะพิเศษ ดังนี้ (Reardon, 1987)

 2 .1 เพื่อนมีสถานะพิเศษในชีวิต เป็นคนที่เราไว้ใจและเป็นที่ยอมรับ ยิ่งไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนเป็น ความสัมพันธ์แบบ ไม่เอาเปรียบ ทั้งนี้มิได้หมายความว่าคนเราจะ ไม่รับสิ่งใดจากเพื่อน แต่การได้สิ่งใดจากเพื่อนนั้นเป็นการได้มาโดยไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่า ตน ถูกบังคับหรือขู่เข็ญ

 2 .2 เพื่อนมีฐานอยู่บนความเท่าเทียมกัน หมายถึงว่า ระหว่างเพื่อนไม่มีใครมีอำนาจหรือ อิทธิพลเหนือใคร แม้ว่าอีกคนหนึ่ง จะมีสถานภาพเหนือกว่า และตรงจุดนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บุคคลมีเพื่อนที่มีสถานภาพทางสังคมหรือ เศรษฐกิจต่างจากตนเองมาก ๆ ได้ เนื่องจากอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างบทบาทขึ้น

 2 .3 เพื่อนต้องยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งจะรู้ได้จากการสังเกตพฤติกรรมของอีกฝ่ายหนึ่งว่าคล้อยตามกฏของความเป็นเพื่อนหรือไม่ กฏของความเป็นเพื่อนโดยทั่วไปประกอบด้วย
  • เมื่อมีข่าวใด ๆ เกี่ยวกับความสำเร็จก็บอกให้เพื่อนรู้
  • แสดงการสนับสนุนทางอารมณ์
  • เสนอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ
  • พยายามทำให้มีความสุขเมื่ออยู่ร่วมกัน
  • เสนอตัวทำงานแทนถ้าเพื่อนขาดไป
อย่างไรก็ตามนักวิชาการบางท่านได้สำรวจกฏดังกล่าวและเสนอว่ากฏเหล่านี้ตั้ง ขึ้นมาเพื่อให้รางวัลสำหรับความเป็นเพื่อน โดยพยายามหลีกเลี่ยง ความขัดแย้งซึ่งเป็นปรากกการณ์อีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ในระหว่างเพื่อน สำหรับการที่ยอมรับใครเข้ามามีความสัมพันธ์ในระดับเพื่อนนั้น เป็นไปตามทฤษฎีการเกิดความสัมพันธ์และสาเหตุการเกิดความสัมพันธ์ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
3. ระดับลึกซึ้ง ความสัมพันธ์ในระดับนี้เป็น ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เปิดตนเองต่อกันมาก ขึ้นต่อกัน และกันสูง มีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องมาก ความสัมพันธ์เช่นนี้ปรากฏอยู่ในสามี-ภรรยา พ่อแม่-ลูก พี่-น้อง เพื่อนสนิท คู่รัก หรือลักษณะอื่น ๆ มีข้อค้นพบที่น่าสนใจสำหรับความสัมพันธ์ประเภทนี้ ดังนี้
3.1 คู่สัมพันธ์ระดับลึกซึ้งมักคาดหวังจากกันและกันสูง เกินกว่าขอบเขตที่เป็นจริง เมื่อไม่เป็นไปตามที่คาดก็มักกล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่ง
3.2 ความสัมพันธ์ระดับนี้มิได้ขึ้นอยู่กับคู่สัมพันธ์อย่างเดียว การสื่อสารจากคนอื่น ๆ ก็มี อิทธิพลต่อความสัมพันธ์นั้นด้วย
3.3 ความสัมพันธ์ระดับลึกซึ้งที่เรียกว่าความรักนั้น จำแนกได้เป็น 3 ประเภทย่อยและแต่ละประเภทก็มีลักษณะต่างกัน ดังนี้
3.3.1 รักแบบหลงไหล ซึ่งปรกติจะอยู่นอกเหนือการควบคุมเป็นเรื่องของอารมณ์แท้มากกว่าเหตุผล มักกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองอย่างฉับพลัน พฤติกรรมระหว่างคู่สัมพันธ์มักพยากรณ์ไม่ได้ และไม่เป็นฐานความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน การได้อยู่ร่วมกันเป็นประจำหรือการที่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศสม่ำเสมอจะทำ ให้ความตื่นเต้นอันเกิดจากความหลงไหลลดลง
3.3.2 รักแบบความจริง เป็นความรักที่พัฒนามาจากแบบแรก เกิดขึ้นทีละน้อยและอยู่ภายใต้การควบคุมของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มีการตอบแทนกันและกัน มองความสัมพันธ์ในลักษณะสมดุล
3.3.3 รักแบบเอื้ออาทร เป็นรักที่เกิดจากแรงจูงใจภายใน ซึ่งจะมีส่วนเพิ่มชีวิตชีวาให้กับความรักแบบที่สอง
3.4 พฤติกรรมที่สื่อให้เห็นความสัมพันธ์ลึกซึ้งนั้น เป็นได้ทั้งภาษาถ้อยคำและท่าทาง ภาษาเหล่านี้ส่อให้เห็นว่า คู่สัมพันธ์มีความใกล้ชิดกัน ทั้งกายและใจ อาจเห็นได้จากการมองตา การใช้เวลาอยู่ร่วมกันมาก การยิ้ม การยืนใกล้กัน หรือการสัมผัส เป็นต้น


 การเกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

การที่บุคคลจะเลือกมีความสัมพันธ์กับใครเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาสังคมให้ความ สนใจมาก นักวิชาการในสาขานี้ได้พัฒนาทฤษฎีและข้อคิดเห็นเพื่อนำมาอธิบาย ดังนี้ (Organ & Hamner, 1982)

1. ทฤษฎีอธิบายการเกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
1.1 ทฤษฎีการแลกเปลี่ยน
ทฤษฎีนี้ได้อธิบายการเกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในรูปของกำไรและต้นทุน โดยที่ กำไร หมายถึง สิ่งที่เราได้จากการมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ขณะที่ต้นทุน หมายถึง สิ่งที่ไม่น่าพอใจในการสร้างความสัมพันธ์นั้น เช่น ความล้า เบื่อ วิตกกังวล เป็นต้น คนเราจะประเมินกำไรจาก ความสัมพันธ์โดยอาศัยมาตรฐาน 2 ประการ ประการแรก ได้แก่ ระดับของการเปรียบเทียบในอดีต ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยได้รับจากการมีความสัมพันธ์ในอดีตเมื่อเปรียบเทียบกับ ปัจจุบัน และประการที่สอง ได้แก่ ระดับการเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่น ๆ ในปัจจุบัน ในข้อนี้หมายถึงว่า บุคคลจะเลือกสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใดต้องคำนึงแล้วว่า ระหว่างคนต่าง ๆ ที่แวดล้อมอยู่ผู้ใดจะทำให้ได้สิ่งที่ต้องการ มากที่สุด ไม่ว่าความสัมพันธ์กับคนปัจจุบันจะทำให้ได้ผลดีแค่ไหนก็ตาม หากบุคคลคิดว่าการสร้างความสัมพันธ์กับคนใหม่ให้ผลดีกว่า เขาก็มีแนวโน้มที่จะไปสร้างความสัมพันธ์กับคนใหม่หรือกลุ่มใหม่ ในทางตรงข้ามแม้ความสัมพันธ์ในปัจจุบันจะทำให้ไม่พอใจขนาดใดก็ตามบุคคลจะยัง คงความสัมพันธ์นั้นไว้ หากเปรียบเทียบแล้วว่าการไปสร้างความสัมพันธ์กับคนใหม่อาจทำให้ได้ผล ร้ายกว่าเดิม

 1.2 ความคล้ายคลึงของเจตคติ
ทฤษฎีนี้อธิบายว่า ผู้ที่มีเจตคติคล้ายกันจะดึงดูดเข้าหากันและเป็นองค์ประกอบสำคัญของการคบหากัน

 1.3 การเติมความแตกต่างให้สมบูรณ์
ในบางกรณีพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเกิดขึ้นได้แม้จะมีความแตกต่างกัน โดย สิ้นเชิง ลักษณะเช่นนี้อธิบายด้วยหลักของการเติมให้สมบูรณ์ โดยทฤษฎีนี้กล่าวว่า ลักษณะที่ แตกต่างกันของบุคคลนั้นหากสามารถตอบสนองความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ความต่างจะกลายเป็นเสมือนสิ่งดึงดูดใจอีกฝ่ายหนึ่งให้เข้ามาสร้างความ สัมพันธ์ด้วย ทฤษฎีนี้สอดคล้องกับทฤษฎีการแลกเปลี่ยนเนื่องจากลักษณะของอีกฝ่ายหนึ่งจะถือ ว่า เป็นกำไรของอีกฝ่ายหนึ่งที่มิได้เป็นเจ้าของลักษณะนั้น

 1.4 การเปรียบเทียบทางสังคม
ทฤษฎีนี้อธิบายว่า คนเราแต่ละคนมีความต้องการที่จะประเมินตนเอง ดังนั้นจึงต้องการทดสอบตนเองกับคนอื่น ๆ เพื่อทราบว่าสิ่งที่เรามีหรือเราคิดหรือเราเป็นสอดคล้องกับความเป็นจริง ทางสังคมหรือไม่ และการที่จะกระทำเช่นนี้ได้จำเป็นที่จะต้องสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ

 1.5 ตัวแบบเสริมแรง
ทฤษฎีนี้เสนอว่า ความดึงดูดระหว่างบุคคลนั้นส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ที่ได้รับ การเสริมแรงเมื่อมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ทฤษฎีนี้เสนอว่า คนเราจะชอบบุคคลที่มีความสัมพันธ์อยู่กับสิ่งเร้าที่ทำให้เราพอใจ นักทฤษฎีนี้ตั้งข้อเสนอว่า ปฏิกิริยาซึ่งเป็นความชอบพอที่เราจะตอบสนองต่อบุคคลหรือวัตถุเกิดขึ้นได้โดย การวางเงื่อนไขด้วยความใกล้กันในแง่ของพื้นที่หรือเวลา ตัวอย่างเช่น เราอาจมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อใครคนหนึ่งได้เพียงเพราะเขามาปรากฏตัวอยู่ใน ขณะที่เรามีประสบการณ์ที่น่ายินดีและพึงพอใจ

2. สาเหตุโดยทั่วไปของการเกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
สำหรับสาเหตุโดยทั่วไปที่ควรจะนำมาพิจารณาประกอบด้วย
2.1 การมีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องกัน
การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับใครนั้นอาจเกิดขึ้นได้เพราะการมองเห็นประโยชน์ ซึ่งอาจได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าทั้งคู่มีจุดมุ่งหมายที่เข้ากันได้

 2.2 ความต้องการใฝ่สัมพันธ์
หากรับรู้ว่าการมีความสัมพันธ์กับใครสามารถจะตอบสนองความต้องการที่จะได้รับ ความรัก ความเป็นมิตรและการได้ผูกพัน ก็มีแนวโน้มที่เราจะเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับคนผู้นั้น

 2.3 ความพอใจในกิจกรรมของผู้อื่น
กิจกรรมที่ผู้อื่นทำอยู่เป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เข้ามาสร้างความสัมพันธ์ ด้วย เนื่องจากการมีความสัมพันธ์นั้นเป็นโอกาสให้ได้เข้าไปทำกิจกรรมที่ตนพอใจ

 2.4 การส่งเสริมสถานภาพส่วนตัว
ในบางกรณีแม้ตัวบุคคลที่ตั้งใจจะมีความสัมพันธ์ด้วยนั้นไม่น่าสนใจและไม่ดึง ดูดใจ แต่หากบุคคลนั้นมีสถานภาพทางสังคมหรือเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงก็อาจเป็น ปัจจัยดึงดูดให้เข้าไปมีความสัมพันธ์ด้วย เพราะจะได้รับเกียรติและการยกย่องว่าเป็นพวกเดียวกันกับบุคคลผู้นั้น

 2.5 การลดความวิตกกังวล
สาเหตุหนึ่งที่คนเราสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นก็เพื่อลดความวิตกกังวล อันเกิดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องอยู่โดดเดี่ยว การมีความสัมพันธ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อคนเรา รู้สึกว่าถูกขู่หรือถูกทำให้กังวล การเข้าร่วมกับคนอื่นจะทำให้ความรู้สึกดังกล่าวลดลงเพราะคนอื่น ๆ ก็กังวลเหมือนกัน หรือเป็นไปได้ว่าเมื่อมาอยู่รวมกันก็สามารถจะหาทางจัดการกับความวิตกกังวล นั้น อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์นั้นทำให้กังวลร่วมกับอับอาย คนเรามีแนวโน้มจะอยู่คนเดียวมากกว่าอยู่รวมกับผู้อื่น

 2.6 การใช้ความสัมพันธ์กับคนอื่นเป็นเครื่องมือสำหรับการบรรลุจุดมุ่งหมายส่วนตัว
การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลนั้นเป็นไปได้อีกเช่นกันที่คนเราจะทำไปเพราะ เป็น ช่องทางที่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์และบรรลุวัตถุประสงค์ส่วนตนได้โดยที่มิได้ พอใจในตัวบุคคลนั้นเลย

ขั้นตอนของการเกิดความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เกิดขึ้นอย่างมีเงื่อนไข และเงื่อนไขที่สำคัญ คือ ท่าทีและความรู้สึกที่เราแสดงต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ท่าทีเหล่านี้มีผลอย่างยิ่งต่อการงอกงามและการสิ้นสุดความสัมพันธ์ระหว่าง กันและกัน ซึ่งกระบวนการเกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นเป็นไปตามขั้นตอน ดังนี้

 1. การเริ่มความสัมพันธ์
มีปัจจัยจำนวนมากที่มีอิทธิพลต่อการเริ่มความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่ได้รับความสนใจ กันมาก ได้แก่ ก) การมีลักษณะทางกายที่ดึงดูดใจ ข) ความถี่ของการได้พบปะกัน และ ค) ความคล้ายคลึงกันในลักษณะต่างๆ

 2. การสร้างความสัมพันธ์
ขั้นตอนที่สองนี้ยากที่จะระบุให้ชัดเจนลงไป แต่โดยทั่วไปจะเกิดใน 2 ลักษณะ คือ
ก) เกิดทีละน้อยตามเวลาของการที่ได้ติดต่อกัน และ
ข) เกิดเพราะมีเหตุการณ์วิกฤตเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดความสัมพันธ์ขึ้นมาแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มปริมาณของความสัมพันธ์ขึ้นเรื่อย ๆ เช่น อาจทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น มีการป้องกันตนเองน้อยลง บอกถึงความต้องการของตนเองมากขึ้น และจะเริ่มรู้สึกสนิทกัน สามารถสื่อสารกันถึงเรื่องส่วนตัว ซึ่งก้าวไปไกลกว่าการคุยกันตามมารยาท

 3. การกระชับความสัมพันธ์
ในขั้นนี้ต่างฝ่ายต่างพยายามหาวิธีรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยการรักษา ความน่าสนใจในการอยู่ร่วมกัน เรียนรู้นิสัยของอีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็พัฒนานิสัยบางอย่างของตนเพื่อ การตอบสนองและการปรับตัว ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างต้องทำเช่นนี้ด้วยกัน ความสัมพันธ์จะเริ่มงอกงามจนรับรู้ได้ ทั้งคู่จะขึ้นอยู่กับกันและกันมากขึ้น มีพันธะในการคบหากันในลักษณะของการทำประโยชน์ให้แก่กันและกัน
แนวคิดทั้งหมดทำให้มองเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แปรเปลี่ยนไปได้เป็น ระยะ หากเป็นไปตามขั้นตอนความสัมพันธ์จะก้าวคืบหน้าไปจนกระชับแน่น ในทางตรงข้ามหากขั้นตอนหมุนย้อนหลังความสัมพันธ์จะเสื่อมคลายลงและอาจมาถึง ขั้นตอนที่ 4 คือ การจบความสัมพันธ์

 4. การจบความสัมพันธ์
ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คือ มีการเริ่มต้นและมีการสิ้นสุดและ การสิ้นสุดความสัมพันธ์มักตามมาด้วยความรู้สึกทางลบหรือความขัดแย้ง ในการจบความสัมพันธ์มีขั้นตอนที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนี้ (Duck, 1982)
4.1 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในความสัมพันธ์
4.2 อีกฝ่ายหนึ่งจะเริ่มต้นสื่อให้อีกฝ่ายทราบถึงความรู้สึกนั้น
4.3 คู่สัมพันธ์เผชิญหน้ากับปัญหาอันอาจนำไปสู่การปรับความเข้าใจกันหรือความขัดแย้ง
4.4 หากไม่สามารถปรับความเข้าใจกันได้จะมีการหันไปหาฝ่ายที่สาม ซึ่งตรงจุดนี้จะมีการเข้าข้างหรือแยกฝ่าย
4.5 ทั้งสองฝ่ายรู้ว่าความสัมพันธ์สิ้นสุดลงจึงอาจตัดสินใจยุติความสัมพันธ์หรือปรับ รูปแบบความสัมพันธ์ใหม่
อย่างไรก็ตามไม่ว่าความสัมพันธ์ของเราจะเป็นประเภทใด นักจิตวิทยาล้วนเตือนว่าเป็นเพียงความสัมพันธ์ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป ความสัมพันธ์จะแปรเปลี่ยนระดับหรืออาจ สิ้นสุดลง ซึ่งหมายความว่า เราเองได้เรียนรู้เรื่องของมนุษยสัมพันธ์ไปอีกขั้นตอนหนึ่งแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น