หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สองประเด็นยอดฮิต"จะcut loss ดีไหม"+"ขายไปแล้วเมื่อไหร่ควรจะซื้อคืน"

เก็บไว้เป็นอุทาหรณ์, ขอบคุณคุณหมอ Sawaddee จาก S2M

"จะ cut loss ดีไหม"
....เป็นคำถามที่ต้องบอกว่าจะตอบง่ายก็ง่ายจะตอบยากก็ยากครับ....สำหรับคน ที่วางแผนในการเล่นหุ้นไว้ก่อนแล้วว่าจะ cut lossตั้งแต่แรกที่กี่ % เมื่อหุ้นไม่ได้วิ่งขึ้นตามที่เราคาดเดานั้น คำถามนี้ง่าย

ชื่อ:  วงจรชีวิตเม่า&#365.gif
ครั้ง: 1255
ขนาด:  23.4 กิโลไบต์

แทบไม่ต้องคิดหาคำตอบเลยครับ เพราะเมื่อไหร่แตะ stop loss เราควรขายหุ้นนั้นๆทันที สำหรับคนที่เล่นเทคนิคัลด้วยกราฟวันผมแนะนำ 4.5%(รวมค่า broke =5% พอดี)จะเป็นการสูญเสียซึ่งเรารับได้ และเงินต้นเรายังอยู่ถึง 95% ทุกครั้งที่เราเสียหายจะสามารถกลับมาซื้อในขาขึ้นรอบใหม่ได้อย่างสบายๆครับ สำหรับกราฟ week อาจต้องขยับ stop loss กว้างถึง 10-15% เงินต้นก็ยังเหลือ 85-90% ยังสามารถกลับมาสู้ใหม่ได้ไม่เสียศูนย์จนต้องเดินคอตกออกจากตลาดหุ้น ครับ...ปัญหาจึงเกิดกับคนที่ไม่ได้ตั้ง stop loss ไว้แต่แรกเสียมากกว่า...ผมอยากจะแนะนำกว้างๆคือในตลาดขาลงหุ้นจะลงไปจนกว่า จะจบแนวโน้มในการลง ซึ่งในตลาดตลาดหมีรุนแรงอย่างเช่น subprime ราคาหุ้น bluechip อาจตกลงได้ราวๆ 50%....ซึ่งในครั้งนี้จะลงไปเท่าไหร่ผมก็ไม่สามารถบอกได้...เพียงแต่การคาด เดาตามหลักเทคนิคัลมันอาจลงไปได้ตามกราฟ จำง่ายๆคือ 888,777,666(ตัวเลขจริงๆตาม fibo ก็ตามกราฟนะครับ)....ความจริงตลอดกาลข้อหนึ่งคือการลงของหุ้นไม่ได้เป็นเส้น ตรง ทุกครั้งที่ลงจะเกิดการ rebound เรียกแมงเม่าใหม่ๆเข้ามาซื้อเพราะคิดว่าหยุดลงแล้ว และทำให้คนไม่มีวินัยคิดว่าหุ้นหยุดลงไม่ต้อง cut loss....แต่มันก็จะลงต่อจนมันจบแนวโน้มขาลงจริงๆ ซึ่งพอใกล้ถึงตอนนั้นคนที่มีหุ้นอยู่ส่วนหนึ่งจะทนไม่ไหวแล้วขายหุ้นออกมาใน ที่ต่ำ แล้วหุ้นก็จะหยุดลงแล้วเด้งขึ้นหรือกลับเป็นขาขึ้นทันที ขายแบบนี้ซวยสองเด้งครับ....ดังนั้นเมื่อตลาดเพิ่งกลับเป็นขาลงอย่างชัดเจน แล้ว เช่นในขณะนี้ที่เพิ่งหลุด uptrend channal คุณควรตัดสินใจ cut loss ทันที เพราะยิ่งลงลึกคุณยิ่งทำใจขายมากขึ้นเรื่อยๆ....ทั้งนี้ทั้งนั้นผมไม่ได้ หมายรวมถึงคนต้นทุนต่ำซึ่งซื้อหุ้นแบบ vi ตั้งแต่ดัชนี้ 380-700 แล้วถือมาตลอดนะครับ เพราะการลงครั้งนี้ยังไงก็ไม่น่าจะทำให้คุณขาดทุนได้ ผมจะให้ความสำคัญของคนที่ต้อง cut loss คือคนที่เพิ่งเข้าซื้อเมื่อดัชนี 700-1000 จุด ขึ้นมาเสียมากกว่าครับ..."ยิ่งลงลึกยิ่งตัดใจขายยาก" ดังนั้น "ตัดไฟแต่ต้นลม" .....คำถามที่ว่าจะ cut loss หรือไม่คุณจึงเป็นคนที่ต้องค้นหาคำตอบเองครับ ..................

"ขายแล้วจะซื้อคืนเมื่อไหร่"
อยากแนะนำแนวทางกว้างๆไว้คือประการแรกคือเราไม่รู้หลอกครับว่าหุ้นจะลงไปถึง เท่าไหร่แล้วจะหยุดลง แนวรับคร่าวๆที่ 888,777,666 จึงเป็นเพียงแนวรับที่ให้ monitor ว่าหุ้นอาจจะหยุดการเป็นขาลงแล้วเท่านั้น แต่สิ่งที่บอกการกลับเป็นแนวโน้มขาขึ้นรอบใหม่คือ indy ต่างๆที่ผมแนะนำว่าง่ายที่สุดคือ macd day ตัด 0 ขึ้นสำหรับคนเล่นกราฟวัน...สำหรับคนเล่นกราฟ week ก็เป็น macd week ตัด 0 ขึ้น ถ้าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ต้องซื้อหุ้นคืนครับ และแน่นอนต้องตั้ง stop loss ทันทีที่จุดซื้อ ก็แค่นั้นครับตอนนี้"ตลาดขาลง cash is king.".."ตลาดขาขึ้น stock is king" ครับสำหรับนักเทคนิคัล
.......ขาขึ้นเราต้องมีเรา ขาลงก็ต้องอดทน อย่าผลีผลามรีบร้อนเข้าซื้อหุ้น "กำไรจากตลาดหุ้นมักเกิดจากความอดทนที่จะไม่ซื้อหรือไม่ขายมากกว่าความผลี ผลามใจร้อนครับ"
.......วางแผนให้ดีครับ....."วางแผนวางระบบที่ดี=ชนะก่อนรบทีหลัง(ซุนวู)"
.......ท้ายสุด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นตั้งสติให้ดี แล้วสตังจะยังอยู่กับท่านครับ....โชคดี
Attached Images  

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภาวะผู้นำที่ประสบความสำเร็จ

David Rook และ William Torbert ได้จำแนกประเภทของผู้นำไว้ 7 ประเภท โดยมุ่งเน้นเรื่อง คุณลักษณะและแนวทางใน การแก้ไขข้อบกพร่อง และพัฒนาจุดเด่นให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น มีประเด็นสำคัญ ดังนี้...
  1. ผู้นำประเภทนักฉวยโอกาส (Opportunist)
    ผู้นำประเภทนี้มีเพียงร้อยละ 5 ของผู้นำทั้งหมด มีลักษณะเด่นคือ ยึดถือความคิดตัวเองเป็นใหญ่ จิตใจคับแคบ ไม่ไว้ใจใคร มองโลกในแง่ร้าย บ้าอำนาจ สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง การยอมรับ และผลประโยชน์ มองเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง และลูกค้าเป็นเสมือนเครื่องมือเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา ผู้นำประเภทนี้จะมองว่า โลกมนุษย์เต็มไปด้วยความโหดร้าย การเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น จึงต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้น ถูกต้องเสมอ เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็พร้อมจะโต้ตอบกลับให้รู้ดำรู้แดงกันไปข้างหนึ่ง ผู้นำประเภทนี้มักจะดำรงตำแหน่งได้ไม่นานเพราะไม่มีใครชอบ ไม่มีใครอยากให้ความร่วมมือ ยากที่จะเจริญก้าวหน้า และหาความสุขไม่ได้ในชีวิต แนวทางการแก้ไขคือ พยายามมองโลกในแง่ดี เปิดใจให้กว้าง มีความไว้เนื้อเชื่อใจ และจริงใจกับคนอื่นบ้าง ถึงแม้ว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราอาจจะเจอแต่คนเอารัดเอาเปรียบ แต่ไม่จำเป็นว่า ปัจจุบันจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป ถ้าอยากมีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า และได้รับการยอมรับ ก็ต้องรู้จักเปิดใจยอมรับผู้อื่นบ้าง อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเราเช่นไรเราก็ต้องทำเช่นนั้นกับเขาก่อน 
  2. ผู้นำประเภทนักการทูต (Diplomat)
    มีประมาณร้อยละ 5 ของผู้นำทั้งหมด ผู้นำประเภทนี้มักเป็นที่รักของลูกน้องและเจ้านาย เพราะกลุ่มนี้จะชอบสร้างภาพ ให้ตัวเองเป็นที่รักอยู่ตลอดเวลา เช่น พูดจาไพเราะ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่วิพากษ์วิจารณ์ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านาย ดูผิวเผินอาจจะเป็นสิ่งดี แต่ในความเป็นจริง การไม่ตำหนิติเตียน หรือวิพากษ์วิจารณ์ใครเลย จะทำให้องค์กรไม่มีการพัฒนา หรือการเก็บงำข้อบกพร่องและความขัดแย้งภายในองค์กรไม่ยอมบอกให้หัวหน้ารู้ เพราะกลัวว่าภาพพจน์ตนเอง จะเสียและจะถูกมองว่าเป็นคนช่างฟ้อง จะทำให้ปัญหาบานปลาย เนื่องจากไม่ได้รับ การแก้ไขอย่างทันท่วงที ดังนั้น ผู้นำประเภทนี้เมื่ออยู่ในตำแหน่งสูง ๆ มักจะเกิดปัญหาและไม่เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากนัก บุคคลประเภทนี้เหมาะที่จะเป็นฝ่ายต้อนรับและให้บริการมากกว่าการบริหาร เนื่องจากไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง เพราะสนใจแต่ภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น กอปรกับมองว่าปัญหาและข้อบกพร่องเป็นเรื่องน่าอับอาย และยุ่งยากจึงชอบ หนีปัญหา เป็นต้น แนวทางการแก้ไขคือ มองปัญหาและความขัดแย้งในแง่ดี และเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะต้องเกิดขึ้น องค์กรใดที่ไม่มีความขัดแย้ง ย่อมไม่มีการพัฒนา ดังนั้น การติเตียนและวิพากษ์วิจารณ์ในทางสร้างสรรค์ ย่อมเป็นสิ่งดี ทำให้องค์กร มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าต่อไป
  3. ผู้นำประเภทชำนาญการ (Expert)
    มีประมาณร้อยละ 38 ผู้นำประเภทนี้จะใช้ความรู้ที่ลุ่มลึกในงานที่ตนเองรับผิดชอบทำให้ผู้อื่น ยอมศิโรราบ บุคคลเหล่านี้ จะชอบใฝ่หาข้อมูล ใส่ตัวให้มากที่สุดเพื่อแสดงว่ าตนนั้นอยู่เหนือผู้อื่นและมักคิดว่า ตนเองเก่งที่สุด และไม่มีวันที่คนอื่น จะรู้เท่าทัน ทำให้บ่อยครั้งเกิดการทะเลาะกับเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยง เสียไม่ได้ ผู้แต่งได้ยกตัวอย่าง อาชีพที่มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมดังกล่าว เช่น นักบัญชี นักวิเคราะห์ทางการตลาด นักวิจัยการลงทุน วิศวกรเกี่ยวกับโปรแกรมข้อมูล และที่ปรึกษาในด้านต่าง ๆ เป็นต้น ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะมีข้อดีคือ มีความรู้อย่างแท้จริง และสามารถพัฒนาปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น มีความรับผิดชอบ และตั้งใจทำงานเพราะต้องการผลิตผลงานออกมาให้ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ งานส่วนใหญ่มักจะต้องทำคนเดียว และหน้าที่การงานก็ไม่เจริญรุ่งเรืองเท่าที่ควร เพราะชอบโอ้อวดและดูถูกคนอื่น ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญดังกล่าว จึงไม่ได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนมากนัก แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักทำงานเป็นทีม รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าดูถูกดูแคลนผู้อื่นเพราะจะเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว และให้ตระหนักว่าเหนือฟ้า ย่อมมีฟ้า อย่ามั่นใจในตัวเองมากนัก
  4. ผู้นำประเภทจัดการ (Achiever)
    มีประมาณร้อยละ 30 บุคคลประเภทนี้สามารถทำงานทุกอย่างลุล่วงไปได้ด้วยดี ตามระยะเวลาที่กำหนด รับฟังความคิดเห็น ของผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี รู้จักการประนีประนอม และมีมนุษยสัมพันธ์ดี ภาพรวมของบุคคลประเภทนี้ เหมือนจะดี แต่ผู้แต่งกล่าวว่า คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ไม่ค่อยมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จะทำเฉพาะสิ่งที่ได้รับ มอบหมาย ถ้าเกินกว่านี้ก็จะไม่กล้าทำ เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลงและกลัวการสูญเสียอำนาจ และมักจะมีปัญหา กับลูกน้อง ที่อยู่ในประเภท "ผู้ชำนาญการ (Expert)" เป็นต้น ผู้นำประเภทนี้ถึงแม้ว่า จะไม่เป็นตัวสร้างปัญหา แต่ก็มิได้สร้างประโยชน์ ให้กับองค์กรมากนัก แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักคิดนอกกรอบและกล้าที่จะเสี่ยงทำสิ่งใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์
  5. ผู้นำประเภท "ข้าแน่คนเดียว" (Individualist)
    มีประมาณร้อยละ 10 บุคคลประเภทนี้มีความคล้ายคลึงกับกลุ่ม "ผู้ชำนาญการ (Expert)" คือชอบทำงานคนเดียว แต่คนกลุ่มนี้จะรู้จักมองโลกสองด้านเช่น การรู้จักแยกแยะข้อมูลทางทฤษฎีกับการนำไปปฏิบัติจริงว่ามีความเป็นไปได้หรือ ไม่ หรือมีข้อจำกัดอะไรบ้าง หรือเป้าหมายของบริษัทนอกจากจะได้กำไรแล้วผลกระทบที่ตามมามีอะไรบ้าง คนกลุ่มนี้จะไม่ใช่สักแต่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น แต่จะรู้จักวิเคราะห์และไตร่ตรองข้อมูลต่าง ๆ กล้าที่จะคิดและเสนอสิ่งที่แตกต่าง เต็มไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความรู้ความสามารถ และต้องการผลักดันให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่จุดอ่อนของคนประเภทนี้คือ ไม่รู้จักการยืดหยุ่น หรือประนีประนอม และพร้อมที่จะสู้ตายเพื่อพิสูจน์ว่าความคิดของตนเองนั้นถูกต้อง จึงทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับคนทุกระดับ ไม่ค่อยเจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรเพราะขาดคนสนับสนุน หรือกว่าจะไปถึงจุดสูงสุดก็ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างหนักเพื่อสู้กับ แรงต้านที่มาทั่วทุกสารทิศ แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักปล่อยวางบ้าง อย่ามั่นใจตัวเองมากนัก เปิดใจยอมรับความคิดของผู้อื่นบ้าง รู้จักทำงานเป็นทีม และในฐานะหัวหน้าหากมีลูกน้องประเภทนี้ถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามที่ขาดการเจียร นัย จึงควรให้การอบรมสั่งสอนให้รู้จักการวางตัวและแสดงออกอย่างเหมาะสม
  6. ผู้นำประเภทนักยุทธศาสตร์ (Strategist)
    มีประมาณร้อยละ 4 บุคคลประเภทนี้จะมีความรู้ ความสามารถมาก มองเห็นภาพรวมทั้งหมดขององค์กร รู้ว่าสิ่งไหนทำได้ หรือทำไม่ได้ หรือยังขาดทรัพยากรใดบ้าง มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล สามารถสร้างความรักและศรัทธา จากลูกน้องและผู้ร่วมงานได้ ยึดเอาผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก รับความขัดแย้งได้ทุกรูปแบบ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้า และมีคุณธรรมไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ขององค์กรแต่เพียงฝ่ายเดียว
  7. ผู้นำประเภทนักสร้างสรรค์พัฒนา (Alchemist)
    มีประมาณร้อยละ1 บุคคลกลุ่มนี้พร้อมที่จะพัฒนาตนเองและพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคล้ายคลึงกับ"กลุ่มนักยุทธศาสตร์ (Strategist)" แต่แตกต่างกันตรงที่นักยุทธศาสตร์นั้นจะมองภาพรวมทั้งหมดและจัดการทุกอย่าง ได้อย่างไม่มีที่ติ แต่นักสร้างสรรค์ พัฒนานั้นนอกจากจะบริหารงานได้อย่างดีเยี่ยมแล้วยัง สามารถริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เหนือ ความคาดหมาย ได้อีกด้วย นอกจากนั้น คุณลักษณะอื่น ๆ ของผู้นำประเภทนี้คือ สามารถรับได้ทุกสถานการณ์ ไม่มีความขัดแย้งเพราะ มองปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา พูดจานุ่มนวล ถูกต้องตามกาละเทศะ มีบุญญาบารมี มีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้า อยู่ตลอดเวลา มีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา และมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม

ยุทธวิธี 19 ประการสำหรับภาวะผู้นำที่ประสบความสำเร็จ

  1. รักษาสัมพันธภาพที่ดีกับนายของท่าน สัมพันธภาพที่ดีมีผลโดยตรงกับความสามารถของท่านที่จะสร้างความพอใจ และผูกใจผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้นำที่มีความสามารถได้รับอำนาจจากนายของเขา
  2. ทำตัวอย่างที่ดี ในสิ่งที่ท่านอยากให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติ เช่น มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ ควบคุมอารมณ์ใช้ปัญญา กล้าตัดสินใจ ยืดหยุ่นมีเหตุผล กำหนดวัตถุประสงค์ ริเริ่ม กระตือรือร้น ท่านต้องให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ ท่านต้องเป็นแบบอย่าง การเป็นแบบอย่างเป็นยุทธวิธีที่ดีมากสำหรับผู้นำที่มีความสามารถ
  3. บอกความคาดหวังท่านชัดเจน ท่านคาดหวังอย่างไรกับผู้ร่วมงานที่เขาจะทำให้เกิดความพึงพอใจกับท่าน อย่าคิดเอาเองว่า เขาจะทราบไม่ต้องกลัวที่จะบอกเขาว่าท่านต้องการอะไร บอกเขาก่อนที่เขาจะทำงาน และเตือนเขาบ่อย ๆ เท่าที่จะทำได้
  4. นัดประชุมเพื่อสร้างทีมให้เข้มแข็ง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดให้กลุ่มมุ่งเน้นที่เป้าหมาย
  5. ให้รางวัลผู้ให้ความร่วมมือและทำงานหนัก ถ้าให้รางวัลเขาแล้ว เขาจะทำงานดีขึ้น
  6. ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล และหาประโยชน์จากความแตกต่างเหล่านั้น
  7. ให้คำชมบางคนที่ให้ความร่วมมือกับทีมดูวัตถุประสงค์ ความจริงใจ และความถี่ ท่านแน่ใจว่าเขาทำตามความคาดหวังของท่าน และสามารถปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
  8. รับฟังผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงานจะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ท่านจะได้รับความนับถือและได้ รับความจริงใจ มากขึ้น ท่านจะได้ทราบความเป็นไปในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น
  9. เลือกบุคคลที่สามารถทำงานกันเป็นทีม ไม่มีการฝึกอบรมชนิดใดที่จะเปลี่ยนแปลงบุคลากร ที่แปลกแยกจากทีมของท่าน ได้มากนัก ให้พิถีพิถันในการเลือกคน อย่าต้องมาจ่ายเงินเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งผิด ๆ ทิ้งไว้ให้คู่แข่งของท่านจะสวยกว่า
  10. ร่วมกันกำหนดเป้าหมายทัศนภาพ สร้างแรงจูงใจ และเหตุผลต่าง ๆ ไม่ต้องบอกว่าเขาต้องทำอะไรในสถานการณ์ต่าง ๆ และให้เขาช่วยตัดสินใจในวิธีการที่ดีที่สุดในการที่จะทำให้บรรลุผลตามความ ต้องการต่าง ๆ เหล่านั้น
  11. ยอมรับความผิดพลาด การยอมรับความผิดพลาดแสดงถึงความเข้มแข็งมากกว่าการแสดงความอ่อนแอ
  12. อย่าให้คำมั่นสัญญาอะไรง่าย ๆ มีสองสิ่งที่จะเกิดขึ้น เวลาให้สัญญาไม่เป็นสิ่งที่ดีนัก นั่นก็คือ มีความคาดหวังให้เป็นไปตามสัญญา และถ้าไม่เป็นไปตามสัญญา มิตรภาพก็จะสลายไป
  13. บริหารเวลาให้ดี ควรมีเวลาให้เพื่อนร่วมงานของท่านบ้าง
  14. มอบหมายงานให้เหมาะสมกับคนสอดคล้องกับความต้องการขององค์กร สิ่งนี้เป็นคำตอบที่ดีสำหรับคำถามที่ว่า "ข้าพเจ้าจะจู.ใจลูกน้องได้อย่างไร"
  15. ท่านต้องยอมรับค่าของคนตามความแตกต่างของบุคลากร ท่านก็คงทราบว่าสิ่งใดที่จะทำให้ท่านรู้สึกดีขึ้น คนอื่น ก็เช่นเดียวกับท่าน ทุกคนต้องการมีความรู้สึกว่าตนเองสำคัญ ถ้าท่านยกย่องเขา เขาก็ยกย่องท่าน
  16. แก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างซื่อตรง และยุติธรรม ให้ตระหนักถึงสไตล์การแก้ปัญหาความขัดแย้งของท่าน เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์
  17. ให้ข้อมูลในการทำงานก่อนที่เขาจะทำงาน เพื่อนร่วมงานต้องการข้อมูลที่จำเป็นในการทำงาน เมื่อท่านมอบหมายงานท่านต้องให้ข้อมูลเขา
  18. ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นจากแรงกดดันของแต่ละวันบ้าง ท่านต้องมีเวลาคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้เป้าหมายบรรลุผล ควรจะวางแผนอย่างไร มิฉะนั้นท่านก็จะต้องต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ โอกาสที่ท่านจะประสบความสำเร็จยากมากต้องปล่อยวางบ้าง
  19. อย่าเป็นคนที่เคร่งเครียดจนเกินไป ร่าเริงและเป็นกันเองกับลูกน้องบ้าง

ความกล้า คือการต่อสู้ความกลัว เป็นการเอาชนะความกลัว แต่ไม่ใช่ไม่รู้สึกกลัว " Courage is the resistance to fear, mastery of fear, not absence of fear."
Mark Twain นักเขียนชาวอเมริกันได้กล่าวไว้
ข้อความนี้เป็นความจริงที่ผู้ทำหน้าที่ "นำ" ผู้อื่น สมควรเรียนรู้
ความกล้าหาญ เป็นลักษณะชีวิตพื้นฐานที่มักพบในบุคคลที่มีแนวโน้มเป็นผู้นำ ผู้ที่มีความกล้าหาญจะสงบเมื่อเผชิญวิกฤตร้ายแรง โดยพยายามที่จะเอาชนะความกลัว ไม่ยอมให้ความกลัวมาขัดความมุ่งมั่นของตน ในขณะที่คนอื่นอาจหวั่นไหวและเกิดความกลัว ความกล้าหาญจะเป็นแรงกระตุ้นให้คิดแง่บวกต่อปัญหา พยายามคิดหาทางออก และถ่ายทอดเป็นคำพูดที่มีพลังและให้กำลังใจทกคนให้กล้าเผชิญปัญหา
ในยามเผชิญหน้ากับสถานการณ์หรือปัญหาบางอย่างที่มีลักษณะ ...เป็นเรื่องร้ายแรง ...เป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ ...เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ...เป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง หรือเรื่องอื่นใดในลักษณะเช่นนี้ที่ทำให้เกิด ความหวั่นวิตก หวาดกลัว ตระหนกตกใจ เพราะไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น คนบางคนอาจตอบสนองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการบ่นต่อว่า ร้องไห้คร่ำครวญ ท้อแท้สิ้นหวัง ยอมแพ้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การตอบสนองปัญหาในเชิงลบเช่นนี้ กลับเป็นเรื่อง "ต้องห้าม" ของผู้ที่อยู่ในบทบาทผู้นำ
ทั้งนี้ เพราะความหวาดกลัวของผู้นำ จะนำความพ่ายแพ้ ล้มเหลวมาสู่คนที่อยู่ภายใต้ทั้งทีม ผู้นำจึงต้อง "ซ่อน" ความกลัว แต่การจะทำเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องแทนที่ด้วยคุณลักษณะอันสำคัญ นั่นคือ ความกล้าหาญ
หากผู้นำขาดความมั่นใจ แสดงความหวาดกลัวออกไป ไม่เด็ดขาดในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา ไม่เพียงแต่จะนำทั้งทีมสู่ความพ่ายแพ้ ยังนำมาซึ่งการสูญเสียความเชื่อมั่นการยอมรับในตัวผู้นำ อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อการบังคับบัญชาได้ในที่สุด แต่หากผู้นำที่สามารถซ่อนความกลัวและเผยความกล้าหาญ จะได้รับการยอมรับจากคนที่อยู่ภายใต้
ดังนั้น เส้นทางการพัฒนาภาวะผู้นำที่สำคัญ เราจำเป็นฝึกฝนลักษณะนิสัยแห่งความกล้าหาญ โดยต้องปรับความเชื่อ ความคิด และความกล้าหาญในการตัดสินใจ
ความเชื่อ... เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก โดยไม่ย่อท้อต่อแรงกดกันใดๆ เชื่อมั่นในตนเองและทีมงาน ว่าจะสามารถหาทางออกได้ ความเชื่อเช่นนี้สะท้อนจิตใจที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลนั้นสามารถเผชิญปัญหาและอุปสรรคใด ๆ ได้ด้วยความมั่นคง เริ่มต้นด้วยการตัดสินใจที่จะไม่กลัวและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ตัดสินใจเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยใจที่สงบและมั่นคง
ความคิด...ใคร่ครวญปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ตัดสินใจรีบด่วนวู่วาม ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ แต่ต้องใช้ความสุขุม คิดใคร่ครวญ ใช้เหตุผลพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ความกล้าของเราต้องไม่ใช่ความกล้าแบบบ้าบิ่น เหมือนดั่งแรมโบ้ กล้าแบบกล้าเสี่ยงเข้าหาอันตราย ที่สำคัญควรปรึกษาหารือกับทีมงานเพื่อหาทางออกร่วมกัน เมื่อความคิดหาทางออกตกผลึกแล้ว จึงวางแผนดำเนินการ
ความกล้า...ในการตัดสินใจและลงมือดำเนินการ ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจทันท่วงที รู้จักฉวยจังหวะและโอกาส ไม่ลังเลหรือขาดความเชื่อมั่น และที่สำคัญต้องเป็นผู้ถือธงรบออกวิ่งไปข้างหน้า ต้องไม่ทำตัวเป็นเหมือนนกกระจอกเทศ เมื่อเห็นปัญหาก็ปักหัวลงในทราย ไม่รับรู้ปัญหาและหวังว่าปัญหาจะหายไปเอง แต่ต้องยืดอกสู้ เผชิญปัญหาด้วยความกล้าหาญ
มาดามรูสเวลท์ (แอนนา เอลินอร์ รูสเวลท์) ได้เขียนถึงนิสัยใจคอสามีประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รูสเวลล์ ไว้ในหนังสือ This I Remember ว่า
"ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักบุคคลใดที่มีความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองยิ่งไปกว่า แฟรงคลิน ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเขาบ่นว่า มีปัญหาหนึ่ง ปัญหาใดยากลำบากเกินไปกว่าวิสัยมนุษย์จะแก้ให้ตกได้ แม้เขาเคยเผชิญต่อความยุ่งยากนานาประการ แต่ทั้งๆที่เขายังหา วิธีแก้ไขไม่ได้ เขาพูดว่า เขามั่นใจอย่างที่สุดว่า จะต้องมีหนทางแก้ไข และว่าจะต้องมีใครคนหนึ่งสามารถจะแก้ไขได้ ...เมื่อเขาวางแผนการจะกระทำสิ่งใด เขาจะปรึกษาหารือกับใครๆหลายคน และรับคำแนะนำที่เขาเห็นว่าดีที่สุด และครั้นเมื่อเขาตกลงใจให้ปฏิบัติแล้ว เขาจะไม่ยอมเสียเวลาเป็นทุกข์เป็นห่วง"
ความกล้าเป็นลักษณะของบุคคลที่มีความพยายามเอาชนะความกลัว พร้อมรับมือกับความกลัวที่เข้ามาในชีวิตของเราในรูปแบบต่าง ๆ กล้าเผชิญปัญหาที่ดูเหมือนหมดหนทางแก้ไข กล้าเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลง กล้ายอมรับในความผิดพลาดของตน หากเราต้องการดำรงตำแหน่งผู้นำที่ประสบความสำเร็จ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเผยความกล้า

คุณลักษณะผู้นำ 14 ประการ
  1. ลักษณะท่าทางหรือการวางตัว (Bearing) คือ การสร้างความประทับใจในเรื่องท่าทาง การวางตัว และความประพฤติ ให้อยู่ในระดับสูงสุด เป็นที่นิยมของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา มีความสุภาพนุ่มนวล หลีกเลี่ยงการพูดด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือเหยียดหยามผู้อื่น เป็นบุคคลที่มีความสง่าผ่าเผย ควบคุมตนเองได้ทั้งในการปฏิบัติตนและอารมณ์ แต่งกายสะอาดเรียบร้อยถูกต้องตามระเบียบแบบแผน
  2. ความกล้าหาญ (Courage) คือ การบังคับจิตใจตนเองให้อยู่ในความสงบ ไม่เกรงกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่สะทกสะท้านหรือ อ่อนไหว กล้าทำ กล้าพูด กล้ายอมรับผิดหรือคำติเตียน เมื่อมีความผิดพลาด หรือบกพร่อง ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกที่ควร ถึงแม้ว่าสิ่งนั้น จะไม่เป็นที่สบอารมณ์ผู้อื่นก็ตาม
  3. ความเด็ดขาด (Decisiveness) คือ ความสามารถในการตกลงใจโดยฉับพลัน และประกาศข้อตกลงใจอย่างเอาจริง และชัดแจ้ง โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งประสบการณ์ของตนเองและบุคคลอื่นอย่างมีเหตุผล และมีความมั่นใจในลักษณะ ที่รวดเร็ว ไม่พูดอ้อมค้อม ถูกต้อง และทันเวลา
  4. ความไว้เนื้อเชื่อใจ (Dependability) คือ การได้รับความไว้วางใจในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ หรืองานที่มอบหมายได้ถูกต้อง ไม่ผิดพลาด ด้วยความคล่องแคล่ว ว่องไว เฉลียวฉลาด กระทำการอย่างเต็มความสามารถและพิถีพิถัน เป็นคนตรงต่อเวลา ไม่กล่าวคำแก้ตัว มีความตั้งใจ และจริงใจ
  5. ความอดทน (Endurance) คือ พลังทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งวัดได้จากขีดความสามารถในการทนต่อความเจ็บปวด ความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ความยากลำบาก ความเคร่งเครียด งานหนัก รวมถึงความอดกลั้นต่อสถานการณ์ที่บีบคั้น
  6. ความกระตือรือร้น (Enthusiasm) คือ การแสดงออกซึ่งความสนใจอย่างจริงจัง และมีความจดจ่อต่อการปฏิบัติงาน อย่างจริงจัง หมายถึง การทำงานด้วยความร่าเริงและคิดแต่แง่ดีเสมอ
  7. ความริเริ่ม (Initiative) คือ การเป็นผู้รู้จักใช้ความคิดในการเสาะแสวงหางานทำ และเริ่มหาหนทางปฏิบัติ ถึงแม้จะไม่มีคำสั่ง ให้ปฏิบัติ หรือการแสวงหาแนวทางในการปฏิบัติงานใหม่ ๆ ที่ดี มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และการกระทำทันที โดยไม่รีรอหรือชักช้า
  8. ความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity) คือ ความเที่ยงตรงแห่งอุปนิสัยและยึดมั่นอยู่ในหลักแห่งศีลธรรมอันดีงาม เป็นคุณสมบัติของการรักความจริง มีสัจจะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างแท้จริง
  9. ความพินิจพิเคราะห์ (Judgment) คือ คุณสมบัติในการใคร่ครวญ โดยใช้เหตุผลตามหลักตรรกวิทยา เพื่อให้ได้มูลความจริง และทนทาง แก้ไขที่น่าจะเป็นไปได้นำมาใช้ในการตกลงใจได้ถูกต้อง
  10. ความยุติธรรม (Justice) คือ การไม่ลำเอียงเข้าข้างใคร มีความเที่ยงตรง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มีความเสมอต้นเสมอปลาย ในการบังคับบัญชา หมายรวมถึง การให้รางวัลและการลงโทษแก้ผู้ที่กระทำผิดด้วย
  11. ความรอบรู้ (Knowledge) คือ ข่าวสารที่บุคคลหามาได้รวมทั้งความรู้ในวิชาชีพของตน และความเข้าอกเข้าใจในตัว ผู้ใต้บังคับบัญชา
  12. ความจงรักภักดี (Loyalty) คือ คุณสมบัติของบุคคลที่มีจิตใจเชื่อมั่น และยึดมั่นต่อประเทศชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อกองทัพ ต่อหน่วย ต่อผู้บังคับบัญชา ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ
  13. ความรู้จักกาลเทศะ (Tact) คือ ความสามารถในปฏิบัติตนกับบุคคลอื่น โดยไม่เกิดความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ก่อให้เกิดศัตรู หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ในทัศนะของบุคคลทั่วไป กาลเทศะ หมายถึง ความสามารถที่จะพูด หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ถูกต้อง เหมาะสมแก่กาลเวลาและสถานที่ ความสุภาพอ่อนโยนถือเป็นส่วนหนึ่งของกาลเทศะด้วย
  14. ความไม่เห็นแก่ตัว (Selflessness) คือ การไม่ฉวยโอกาสตักตวงความสุข ความสะดวกสบาย ความเจริญก้าวหน้าให้กับตนเอง โดยทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเสียผลประโยชน์ หมายถึงการร่วมเป็นร่วมตายกับเพื่อนร่วมงาน การแบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ให้กับผู้ขาดแคลน ยกย่องผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อปฏิบัติงานดีเด่น หรือให้ความช่วยเหลือตามสมควร

กฎของผู้นำ แจ๊ค เวลซ์ 

1.ผู้นำไม่ลดละความพยายามที่จะยกระดับคน ใช้ทุกโอกาสในการประเมิน โค้ช และสร้างความมั่นใจให้กับทีม การประเมินครอบคลุมไปถึงการจัดคนให้ตรงกับงาน สนับสนุนเขา โยกย้ายคนที่ไม่เหมาะกับงาน การโค้ชรวมไปถึงการทำทุกวิถีทางที่จะบอกเรื่องผลงานแบบตรงไปตรงมาเพื่อทำให้ เขาทำงานได้ดีที่สุด การพัฒนาคนต้องทำทุกวัน ไม่ใช่พูดคุยกันปีละครั้งตอนประเมินผลงาน ให้มองว่าผู้นำคือชาวสวนที่มือขวาถือกระบวยรดน้ำ มือซ้ายถือปุ๋ย บางครั้งก็ต้องถอนต้นไม้ที่ไม่ดีออกไป ส่วนใหญ่แล้วเป็นการเพาะบ่ม แล้วรอคอยการเติบโตของไม้นั้น

2.ผู้นำต้องมั่นใจว่าทุกคนเข้าใจวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน ขนาดหายใจเข้าออกเป็นวิสัยทัศน์ พูดง่ายๆ ว่าปลุกคนของเรากลางดึกนี่ท่องได้แบบอาขยานเลย เขาบอกว่าสมัยเขานั้น ช่วงที่เขาพูดเกี่ยวกับวิสัยทัศน์นั้นจ้ำจี้จำไชจนตัวเองเอียนไปเลย แต่ต้องทำ โดยสื่อสารกับทุกระดับ ไม่ใช่แค่ระดับจัดการ

3.ผู้นำกระตุ้นจูงใจให้คนมีความรู้สึกกระตือรือร้นและคิดบวกในการทำงาน ผู้นำต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานเชิงลบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปพูดหวานหลอกพนักงาน เราต้องแสดงออกให้พวกเขาเห็นว่าเรามีพลังและกำลังใจ มีทัศนคติ "เราทำได้" เมื่อเผชิญกับปัญหาและความท้าทาย ซึ่งเราต้องไม่นั่งจมปลักในออฟฟิศ แต่ต้องออกไปทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับทีมงาน ให้เขารู้สึกได้จริงๆ ว่าเราแคร์พวกเขา

4.ตรงไปตรงมา โปร่งใส และเชื่อถือได้

5.กล้าตัดสินใจในเรื่องที่ฝืนความรู้สึกคนหมู่มาก และมั่นใจในสัญชาตญาณตัวเอง การตัดสินใจบางอย่างอาจมีแรงต่อต้านสูงจากคนของเรา ต้องเริ่มต้นด้วยการรับฟังพวกเขาอย่างตั้งใจ แล้วอธิบายเหตุผลของการตัดสินใจให้ชัดเจนที่สุด และลงมือดำเนินการ อย่ามัวรีรอ หรือปลอบประโลมมากเกินไป เราเป็นผู้นำไม่ได้เป็นเพราะว่าต้องการมาหาคะแนนนิยม เรามาเพื่อนำพวกเขา คุณได้รับการแต่งตั้งแล้ว ไม่ต้องหาเสียงสนับสนุนแบบนักการเมือง ในบางกรณีคุณอาจต้องใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจ กล้าและมั่นใจ อย่าลังเล คุณได้เป็นผู้นำเพราะมีประสบการณ์และเห็นมามากกว่าคนอื่น

6.กล้าถาม กล้าซักค้าน และผลักดันให้เกิดงาน เวลาที่เราเป็นระดับปฏิบัติการ เราต้องเก่งและรอบรู้ในงานของเรา แต่เมื่อเรากลายเป็นผู้นำแล้ว บทบาทเปลี่ยนไป เราต้องถามเก่งแทน บางทีคุณอาจจะดูเหมือนคนที่โง่ที่สุดในห้องประชุมจากคำถามของคุณ และเมื่อถามไปแล้วก็ให้แน่ใจว่าได้คำตอบ ตลอดจนคนของเรานำสิ่งที่บอกจะทำไปทำจริงๆ อย่ามั่นใจว่าคนบอกอะไรเราแล้วเขาจะทำตามที่บอก ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

7.ผู้นำจุดประกายให้คนกล้าเสี่ยงโดยการทำตัวให้เป็นแบบอย่าง สมัยทำงานใหม่ๆ แจ๊คเคยทดลองเคมีบางอย่างจนห้องแล็บระเบิด แต่ไม่มีใครบาดเจ็บ เขาวิตกมากเมื่อต้องไปรายงานสิ่งที่เกิดกับผู้บริหารระดับสูงที่ชื่อชาร์ลี รีด แทนที่จะได้รับการตำหนิและกล่าวโทษ ชาร์ลีกับแสดงความเห็นใจ สอบถามถึงสาเหตุอย่างเป็นระบบ แนะนำกระบวนการและสอนวิธีการป้องกันปัญหาในอนาคต แจ๊คนอกจากจะได้เรียนรู้แนวทางการทำงานแล้ว เขายังได้เรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรอย่างเหมาะสม เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดผิดพลาดขึ้นมา

8.ฉลองความสำเร็จสำหรับแต่ละคนที่ทำงานเป็นเลิศ แจ๊คไม่ชอบงานสังสรรค์ประจำปี เพราะคนส่วนใหญ่ไม่สนุกนัก แต่เขาหมายถึงการที่ใครบางคนทำงานยอดเยี่ยม ก็ต้องมีการสมนาคุณ เช่น ให้รางวัลพิเศษด้วยการให้พาครอบครัวไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์


ผู้นำแห่งความสำเร็จ

องค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ก็สามารถทสิ่งที่ยิ่งใหญ่จนได้รับคำชื่นชมว่ามีความสำเร็จได้ทั้งนั้น ขอเพียงมีองค์ประกอบในการทำงานดี ความสำเร็จก็รออยู่ไม่ไกลองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ ผู้นำต้องดี ถ้ามีผู้นำดี ลูกน้องก็ไม่หลงทาง องค์กรก็ไม่เป๋ จะคิดอะไร จะทำอะไร ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ นี่คือ 10 องค์ประกอบของผู้นำที่ทรงประสิทธิภาพ ที่ทุกองค์กรต้องมองหา

1. ตัดสินใจเด็ดขาด
ผู้นำที่รู้จักตัดสินใจอย่างเด็ดขาด มักมีคุณสมบัติพิเศษควบคู่กันอยู่อีกประการหนึ่งเสมอคือ มักถูกต้องและมีเหตุมีผล เขามักจะเป็น คนที่พูดจาคำไหนคำนั้น ถือได้ว่าเป็นผู้นำที่ดีที่สุดของลูกน้อง บางครั้งการตัดสินใจดูเหมือน จะใช้ความคิดของตนเป็นใหญ่ไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ เพราะเขากำลังอยู่ใน บทบาทซึ่งเป็นผู้นำ และเขาจะติดตาม รับผิดชอบไปจนเสร็จสิ้น ทั้งกระบวนการ ถ้าผู้นำมีความมุ่งมั่น ตัดสินใจเร็ว ไม่โลเล เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยๆ ลูกน้องก็จะเกิดความมั่นใจ เชื่อถือ และสามารถทำงานได้โดย ไม่สะดุดบ่อยๆ ผิดกับเจ้านายที่โลเลต่อการตัดสินใจ ลูกน้องก็มักจะมีบุคลิกภาพแบบนักรีรอ ไม่พร้อมจะทำ ไม่พร้อมจะลุย ไม่พร้อม จะตัดสินใจ และไม่พร้อมจะรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

2. มีเป้าหมายชัดเจน
นอกจากจะเฉียบขาดแล้ว ผู้นำที่มีจุดยืน มีอุดมการณ์ หรือมีจุดหมายที่ชัดเจน ก็เป็นที่ต้องการเป็นอย่างยิ่ง จุดหมายที่องค์กรมีร่วมกัน โดยมีนายเป็นผู้ถือธงนำนั้น ก็เหมือนกับทั้งทีมได้เห็นเส้นชัยหรือหลักชัยที่ต้องเดินไปให้ถึง ถ้ามีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนแล้ว เราก็สามารถมุ่งหน้าไปยังจุดๆ นั้นได้ง่าย และเร็วขึ้น เพราะเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คนที่รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่นั้น ย่อมดีกว่าเดินไปคิดลังเลไป เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

3. รู้จักใช้คน
Put he right man in the right job. ยังใช้ได้ดีในทุกสถานการณ์ และทุกที่ ผู้นำที่ดีต้องรู้จักลูกน้องของตนว่า ใครเหมาะที่จะ ทำอะไร งานไหนควรให้ใครรับผิดชอบ คนไหนเก่งอะไร มีข้อบกพร่องด้านใดอยู่บ้าง ก็พยายามแก้ไขให้เขาสมบูรณ์แบบขึ้น ใครขาดใครเกินส่วนไหน ก็ปรับแต่งให้ลงตัว อย่างนี้จึงจะเรียกว่า บริหารคนเป็น การรู้จักนิสัยใจคอ ความชอบส่วนตัวของลูกน้อง นอกจากจะทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพขึ้นแล้ว ยังเป็นข้อหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้นำเอาใส่ใจต่อลูกน้องของเขาเป็นอย่างดี

4. ซื่อสัตย์
นอกจากจะเป็นคนที่ทำงานเก่งแล้ว ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างของความซื่อสัตย์ต่อองค์กรด้วย เขาควรจะบริหารค่าใช้จ่ายภายใน อย่างเป็นธรรมถูกต้อง ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบให้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ การมีเจ้านายเป็นคนเก่ง และเป็นคนดีที่ไว้ใจได้ อาจพูดได้ว่าเป็นโชคทบของลูกน้องที่ได้ร่วมงานด้วยเลยทีเดียว และคุณสมบัติเช่นนี้ก็จะเป็นแบบอย่าง ให้ลูกน้องตระหนักถึงคุณลักษณะที่ดี ของเขา เขาควรจะยิ่งต้องยึดถือความสัตย์ซื่อเป็นสรณะตามไปด้วย

5. สนับสนุนลูกน้อง
ผู้นำที่ดีต้องให้โอกาสลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา เปิดโอกาสให้เขาได้ทำงานที่พิสูจน์ความสามารถของเขาด้วย งานใดจะส่งเสริม ให้ความสามารถของลูกน้องโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ ก็ควรสนับสนุน ไม่ใช่แย่งผลงานและโอกาสในการสร้างผลงานของลูกน้อง มาเป็น ผลงาน ของตัวเองหมดเสียทุกครั้งไป ให้โอกาสเขาได้เจริญเติบโต พร้อมทั้งผลักดัน สนับสนุน ให้สร้างเสริมความสามารถ ให้ยอดเยี่ยมขึ้นเรื่อยๆผู้นำที่ดีต้องสร้าง ลูกน้องให้เก่งขึ้นกว่าเดิม โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่า เขาจะเลื่อนขั้นขึ้นมาทำงาน แทนได้ในภายภาคหน้า

6. มีมนุษยสัมพันธ์ดี
ผู้นำที่ดีต้องมีมนุษยสัมพันธ์ดี ทั้งในและนอกองค์กร บางครั้งนอกองค์กรนายอาจจะเป็นคนนิสัยดีเยี่ยม อัธยาศัยดี น่าคบหา แต่กับ คนใกล้ตัว อย่างลูกน้องในองค์กร นายอาจจะเปลี่ยนนิสัยไปอยู่ขั้วตรงข้าม อย่างนั้นก็นับเป็นผู้นำที่ใช้ไม่ได้ นายที่ดีต้องไม่ลืมข้อนี้ แค่ทักทาย ถามไถ่ทุกข์สุขลูกน้อง ขอบคุณเมื่อเขาทำงานให้ ให้รางวัลหรือคำชมเชย เมื่อเขาทำในสิ่งซึ่งน่าชมเชย เหล่านี้เป็นต้น นายที่ดีต้องรู้จักยืดหยุ่น มีอารมณ์ขัน อาจมีการพบปะสังสรรค์กันนอกเวลางานบ้าง เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน และจะส่ง ผลให้การทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น

7. รู้จักรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง
ผู้นำที่เอาแต่พูดๆๆๆ อยู่ฝ่ายเดียว โดยไม่ฟังความคิดเห็นหรือคำอธิบายของลูกน้องเลย นับเป็นเจ้านายที่ปิดกั้นตัวเองอย่างยิ่ง แน่นอนว่า เจ้านายมักมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่า มีความรู้มากกว่าลูกน้อง แต่การไม่ยอมรับฟังอะไรจากใครเลย ก็ไม่เป็นผลดี เพราะบางทีลูกน้องอาจมีข้อเสนอดีๆ ที่นายมองข้ามไป หรืออาจมีคำ อธิบายที่ฟังขึ้นในความผิดพลาดของงานที่นายมองไม่เห็น การฟังลูกน้องพูดหรืออธิบายบ้าง จะช่วยให้ลูกน้องทำงานอย่างสบายใจ ไม่รู้สึกกดดันมากนัก เมื่อมีปัญหาเขาจะกล้ามาถาม หรือเสนอแนะในข้อที่เขาเห็นว่า เป็นทางเลือกที่ดี แค่รู้จักฟังลูกน้องให้มากขึ้นเพียงนิดหน่อย ก็จะกลายเป็นผู้นำหรือเจ้านายที่น่ารักขึ้นอีกโขเชียวค่ะ

8. บุคลิกภาพต้องดีเยี่ยม
เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง ผู้นำหรือเจ้านายควรเป็นผู้มีบุคลิกดี แต่งกายเหมาะสมกับรูปร่าง หรือ ฐานะทางสังคม ต้องดูสะอาดสะอ้าน ดูสุภาพ เข้างานสังคมได้อย่างไม่ขัดหูขัดตา และมีบุคลิกดึงดูดใจ น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ถ้าคุณเป็นผู้นำหรือนายที่ความสามารถเป็นเลิศอยู่แล้ว แต่บุคลิกภาพกลับดูแย่ อย่างนี้ก็ถือว่าก็ยังมีข้อบกพร่องให้ลูกน้องรู้สึกไม่ดีได้ จึงโปรดอย่าตกม้าตายด้วยเรื่องง่ายๆ เรื่องนี้

9. มีศิลปะในการเจรจา
ขอเพียงพูดด้วยความนุ่มนวล พูดอย่างรู้จักไตร่ตรอง รู้จักสถานการณ์ รู้คิด รู้กาลเทศะ และรู้จักคนที่เรากำลังเจรจาด้วย ความสำเร็จก็รออยู่ไม่ไกล ในการพูดนั้นต้องคิดก่อน มีการเตรียมการมาก่อน ความคิดต้องไม่สับสน พูดอย่างสั้น กระชับ ตรงประเด็น จริงใจ เป็นธรรมชาติ ใช้เสียงที่ดังพอประมาณ คือให้คู่สนทนาได้ยินชัดเจน หากมีผู้ร่วมสนทนาหลายคน ทุกคนต้องได้ยินเสียงพูดอย่างทั่วถึงกัน พูดจาต้องมีหางเสียง มีจังหวะจะโคนที่ราบรื่น มีเสียงหนักเบาเพื่อเน้นความสำคัญของสิ่งที่พูด และไม่ทำให้รู้สึกเบื่อ สายตาควรจับจ้องไปยังผู้ฟังถ้วนทั่ว และเมื่อพูดจบ จงแสดงท่าทีว่าคุณพร้อมแล้วที่จะรับฟังความเห็นของคนอื่น ไม่ปิดกั้น ไม่คิดว่าสิ่งที่คุณพูดไปนั้นดีที่สุด ถูกต้องที่สุดกว่าคนอื่นๆ แต่มันมีความถูกต้องรอบคอบอย่างที่สุดแล้ว จากความคิดของคุณ คนอื่นๆ มีความคิดเห็นอย่างไร ต้องเปิดโอกาสให้เขาแสดงออกมา เพื่อได้รับแรงสนับสนุน หรือหากถูกค้าน ก็เป็นโอกาสที่เราจะอธิบายเพิ่มเติมได้

10. มีความเป็นผู้นำ
ความเป็นผู้นำนี้แหละ สำคัญสูงสุด และลอยตัวอยู่เหนือเพศสภาพ คนเป็นผู้นำไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาเป็นเพศใด แต่เขามีความคิด ที่เฉียบคม ที่การลงมือที่เฉียบขาด และมีการประสานงานที่เฉียบแหลม เขามักอยู่ข้างหน้าผู้อื่นเสมอ ทั้งการคิด การแสดงความคิดเห็น การลงมือทำ และความรับผิดชอบ เขาต้องพร้อมจะผิดก่อนคนอื่น และอธิบายถึงความผิดพลาดนั้นอย่างกล้าหาญ ถูกต้อง และแสดงภูมิรู้ว่า เขาเกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ พร้อมกันนี้เขาก็พร้อมจะนำพาทุกคนให้ก้าวพ้นความผิดพลาดนั้นๆ ปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง เข้าใจองค์กรและเห็นใจผู้ร่วมงาน ประสานประโยชน์ของ องค์กรและผู้ร่วมงานได้ดี ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากผู้ร่วมงานในทุกระดับ

วิธีชนะมิตรและจูงใจคน ของ เดล คาร์เนกี

เทคนิคสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้อื่น

บทที่ 1 การตำหนิติเตียน
- 99 ครั้งใน 100 ครั้งแห่งความผิดของมนุษย์ เขาจะไม่ตำหนิติเตียนตนเองแต่อย่างใด แม้ความผิดพลาดนั้นจะ ร้ายแรงสักขนาดไหนก็ตาม
- การตำหนิติเตียน เป็นสิ่งไร้ประโยชน์ เพราะจำต้องทำให้ผู้ถูกติเตียนแก้ตัวต่างๆ และพยายามที่จะเข้าข้างตนเอง การตำหนิติเตียนเป็นภัย เพราะมันสามารถทำให้จิตใจอันภาคภูมิของมนุษย์ได้รับความปวดร้าว ทำลายความรู้สึกแห่งการเป็นคนมีความสำคัญ และก่อให้เกิดโทสะ
- ก่อนที่จะตำหนิติเตียนผู้อื่น แก้ไขวิพากวิจารณ์ผู้อื่น จงแก้ไขตัวของเราเองให้เรียบร้อยเสียก่อน
- ในการติดต่อกับบุคคลทั่วๆไป เราจงจำไว้เสมอว่าเรามิได้ติดต่อกับบุคคลที่เพียบพร้อมด้วยเหตุผล แต่เราติดต่อกับบุคคลซึ่งเต็มไปด้วยความ ผันแปรแห่งอารมณ์ และห้อมล้อมอยู่ด้วยอคติ และจิตใจคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลาด้วยความหยิ่งทะนะ และทิฐิ
- "ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวร้ายต่อผู้ใด จะกล่าวเฉพาะแต่ความดีเท่าที่ข้าพเจ้ารู้ของมนุษย์ทุกคน"
- ควบคุมตนเอง-เข้าใจผู้อื่น-ยินดีให้อภัย ค้นหาความจริงว่าทำไมเขาจึงได้กระทำลงไปอย่างที่เขาได้กระทำ การเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง คือ การให้อภัยทุกสิ่งทุกอย่าง
- ทำไม? เราจึงจะด่วนตัดสินผู้อื่นเร็วจนเกินไปเล่า

บทที่ 2 เคล็ดลับที่ยิ่งใหญ่ในการติดต่อกับผู้อื่น
- มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้ใครต่อใครทำทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านเคยหยุดคิดเรื่องนี้บ้างไหม? ถูกแล้ว มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น และนั่นคือ การทำให้บุคคลผู้นั้น "ต้องการ" ที่จะทำ โปรดจำไว้ ไม่มีทางอื่นอีกแล้ว
- มีอยู่ไม่กี่อย่างที่เรามนุษย์ธรรมดา มีความกระหายอยากได้ด้วยหัวใจที่จดจ่อ นั่นคือ มีสุขภาพสมบูรณ์อายุยืน อาหาร นอนหลับ เงินและ สิ่งซึ่งจะซื้อได้ ความสุขในอนาคต ความเกษมสำราญในกามรมณ์ ลูกได้รับความสุขสวัสดี และความรู้สึกเป็นคนสำคัญ
- ความปรารถนาเพื่อจะเกิดความรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ เป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างมนุษย์ กับสัตว์เดียรัจฉาน
- วิธีที่จะส่งวเสริมให้เขาเหล่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ให้เขามีความขยันหมั่นเพียรอย่างสูงสุด ก็คือ การยกย่องสรรเสริญและให้กำลังใจ
- ไม่มีสิ่งใดจะทำลายความทะเยอทะยานของผู้น้อย ยิ่งไปกว่าการตำหนิติเตียนจากหัวหน้า
- การยกย่องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ส่วนการเยินยอทำด้วยความไม่สุจริตใจ อย่างหนึ่งออกมาจากหัวใจ อีกอย่างหนึ่งออกมาจากไรฟัน อย่างหนึ่งปราศจากการเห็นแก่ตัว อีกอย่างหนึ่งเต็มด้วยการเห็นแก่ตัว อย่างหนึ่งให้โทษมหันต์
- เลิกคิดถึงความคิดวิเศษวิโสของเรา ความต้องการโน่นนี่ของเรา เราจงมาคิดถึงความดีประการต่างๆของผู้อื่นบ้าง แต่อย่าได้ใช้คำเยินยอ ในการชมเชยเป็นอันขาด หากจงใช้ คำยกย่องสรรเสริญด้วยความจริงใจและสุจริต คำพูดของท่านจะฝังอยู่ในความทรงจำและเป็นสมบัติ อันล้ำค่าแก่อีกฝ่ายหนึ่งนานเท่านานจนตลอดชีวิต จะดำรงอยู่ให้เขาระลึกถึงมันเสมอเป็นเวลาหลายปี แม้ว่าท่านเองอาจจะลืมเสียสิ้นแล้ว

บทที่ 3 จงปลุกความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งให้เกิดความต้องการอย่างแรงกล้า
- การชักจูงความประพฤติของมนุษย์ สิ่งแรก จงปลุกความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งให้เกิดความต้องการอย่างแรงกล้า ผู้ที่สามารถทำได้เช่นนี้ โลกทั้งโลกอยู่ข้างเขา ผู้ที่ทำไม่ได้ จะเดินไปตามหนทางอันอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว
- วันพรุ่งนี้ ท่านอาจจะต้องการให้ใครสักคนหนึ่งทำการบางอย่าง ก่อนท่านจะกล่าวคำพูดออกมา ท่านจงหยุด ถามตนเอง "ฉันจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะทำให้เขาต้องการทำตามที่ฉันชักจูง?" คำถามนี้จะช่วยให้เรายั้งคิดแทนการผลีผลามไปพูดกับใครๆ ถึงความต้องการของเรา โดยปราศจากผล
- "ถ้ามีเคล็ดลับอย่างใดอย่างหนึ่งส่งเสริมให้ไปสู่ความสำเร็จ เคล็ดลับอันนั้นก็คือความสามารถเข้าใจในแง่คิดเห็น ของอีกฝ่ายหนึ่ง และความสามารถมองสิ่งต่างๆในมุมของเขาได้ดีเท่าๆกับมุมของท่านเอง"


ตอนที่ 2 วิธีปฏิบัติ 6 ประการเพื่อทำให้ผู้อื่นชอบท่าน

บทที่ 1 จงปฏิบัติตามนี้ แล้วจะมีผู้ต้อนรับท่านทุกหนทุกแห่ง
- การผูกมิตรกับผู้อื่นจะสำเร็จเรียบร้อยภายในเวลา 2 เดือน ด้วยการเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อเขาผู้นั้น ซึ่งจะได้ผลยิ่งกว่าการผูกมิตรซึ่งใช้ เวลาถึง 2 ปี แต่ด้วยความพยายามให้เขาผู้นั้นเอาใจใส่ต่อเรา
- บุคคลใดที่ละเว้นการเอาใจใส่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่เพียงแต่เขาจะดำรงชีวิตอยู่โดยปราศจากความราบรื่น หากเขาจะเป็นมนุษย์ที่มี อันตรายอย่างใหญ่หลวงแก่ผู้อื่นด้วย มนุษย์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ห่างไกลจากความก้าวหน้า และความรุ่งเรืองในประการทั้งปวง
- ฉะนั้น จงเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อผู้อื่น ขอเน้น จงเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อผู้อื่น ถ้าท่านต้องการให้ผู้อื่นชอบท่าน

บทที่ 2 วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้ผู้อื่นติดเนื้อต้องใจเมื่อแรกพบ
- ท่านไม่มีความรู้สึกที่จะยิ้มเลยหรือ? เมื่อเช่นนั้นจะทำอย่างไรดี? มีอยู่ 2 ประการ ประการแรกจงบังคับตัวท่านให้ยิ้ม
จนได้ ถ้าท่านอยู่ คนเดียว จงบังคับตัวของท่านให้ผิวปาก หรือทำเสียงหึ่มๆเป็นทำนองเพลง หรือร้องเพลง ท่านจงทำกิริยา
ท่าทางเหมือนหนึ่งท่านกำลังมีความสุข และในที่สุด จะโน้มความรู้สึกของท่านให้มีความสุขจริงๆ
- ความสุขมิได้อยู่ที่สิ่งแวดล้อมภายนอก แต่อยู่ที่สิ่งแวดล้อมภายในต่างหาก
- ไม่ใช่เพราะสิ่งที่ท่านมี หรือท่านอยู่ในฐานะใด หรือท่านอยู่ที่ไหน หรือท่านกำลังกระทำสิ่งใดที่ช่วยให้ท่านมีความสุข หรือปราศจาก ความสุข มันอยู่ที่ท่านคิดถึงสิ่งเหล่านั้นต่างหาก คนส่วนมากมีความสุขมากน้อยเพียงใด แล้วแต่จะทำใจให้รู้สึกเช่นนั้น
- "ท่านจะไม่ยอมเสียเวลาแม้แต่นาทีเดียวคิดถึงศัตรูของท่าน จงพยายามตั้งใจให้แน่วแน่ มั่นคงในสิ่งที่ท่านปรารถนาจะ
กระทำ ครั้นแล้ว โดยปราศจากการลังเลหันเห ท่านจงมุ่งตรงไปสู่จุดหมายนั้น จงทำใจของท่านให้จดจ่ออยู่เสมอว่า ความปรารถนาของท่านเพื่อกระทำสิ่งใดๆ จะประสบผลอันงามเลิศ แล้วท่านจะพบว่าขณะวันและเวลาล่วงไป โอกาสจะเปิด ให้ท่านประสบความสำเร็จตามความปรารถนาโดยไม่รู้ตัว"
- จงสร้างมโนภาพของท่าน ถึงบุคคลที่มีสมรรถภาพสูง เข้มแข็งเอาการเอางาน ซึ่งท่านประสงค์จะเป็นเช่นนั้นบ้าง และจากความนึกคิด ทุกๆชั่วโมงอันนี้เอง สามารถเปลี่ยนแปลงท่านให้เป็นบุคคลที่มีความเด่นเป็นพิเศษ..... ความคิด เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด จงดำรง รักษาจิตใจ แนวจิตไว้ให้อยู่ในท่าทีถูกต้องดีงาม ท่าทีแห่งความกล้าหาญบึกบึน แห่งความเป็นคนเปิดเผยตรงไปตรงมา และร่าเริงแจ่มใส ความคิดอันถูกต้องดีงามจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ ความสำเร็จสมดังปรารถนามาจากความตั้งใจจริง เราจะเป็นอย่างไร แล้วแต่ใจเราคิด
- มีภาษิตของจีนกล่าวไว้ว่า คนที่ใบหน้าไม่ยิ้ม อย่าเปิดร้านค้าขาย
ฉะนั้น วิธีง่ายๆ ที่ทำให้ผู้อื่นติดใจเมื่อแรกพบ ก็คือ "ยิ้ม"

บทที่ 3 ถ้าท่านไม่ทำตามนี้ ท่านจะบ่ายหน้าไปพบความยุ่งยาก
- การให้เกียรติโดยการตั้งชื่อ
- พยายามจดจำชื่อบุคคลที่เราพบปะให้ได้มากที่สุด
- จงจำไว้ว่า ชื่อของบุคคลใดก็ตาม สำหรับบุคคลนั้น เป็น สำเนียงหวานที่สุด และสำคัญที่สุด ในภาษามนุษย์

บทที่ 4 หนทางง่ายๆ ที่จะเป็นนักสนทนาที่ดี
- ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ สนใจอย่างแท้จริง ไม่มีสิ่งใดอีกแล้วที่จะเป็นการแสดงความคารวะยิ่งไปกว่านี้
- มีบุคคลอยู่เป็นอันมาก ประสบความล้มเหลวที่จะเป็นผู้ได้รับความนิยม เนื่องจากไม่ฟังผู้อื่นอย่างตั้งอกตั้งใจ
- ความสามารถเป็นนักฟังที่ดีของมนุษย์เป็นสิ่งหายาก เกือบจะยิ่งกว่านิสัยดีๆอื่นๆทั้งหลาย
- จงตั้งคำถามในเรื่องที่อีกฝ่ายหนึ่งจะตอบด้วยความยินดี สนับสนุนให้ผู้อื่นสนทนาถึงเรื่องของเขา และความสำเร็จของเขา
- โปรดจำไว้เสมอว่า บุคคลที่ท่านสนทนาด้วย เป็นผู้สนใจตัวของเขาเอง ความต้องการของเขา และปัญหาของเขา ยิ่งกว่าจะสนใจในตัวท่าน และปัญหาของท่านตั้งร้อยเท่า
จงเป็นนักฟังที่ดี จงสนับสนุนให้อีกฝ่ายหนึ่งคุยถึงเรื่องของเขา
บทที่ 5 วิธีทำให้ผู้อื่นสนใจ
- ค้นหาความจริงว่าเขาสนใจในสิ่งใด และเขามีความสุขในการสนทนาถึงสิ่งใด
สนทนาในเรื่องที่อีกฝ่ายหนึ่งสนใจ

บทที่ 6 วิธีทำให้ผู้อื่นชอบท่านในทันที
- จงทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกเป็นคนสำคัญ
- จงปฏิบัติต่อผู้อื่น เช่นเดียวกับที่ท่านต้องการจะให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน
- คำพูดสั้นๆ เช่น "เสียใจมากที่ต้องรบกวน" , "โปรด", "กรุณา", "ขอบคุณ" ความสุภาพอ่อนโยนเพียงเล็กน้อยจะช่วยปลอบใจอีกฝ่ายหนึ่งให้หายจากความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียจากงานประจำวัน
จงทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกเป็นคนสำคัญ และ จงทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ


ตอนที่ 3 วิธีปฏิบัติ 12 ประการ เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นคล้อยตามแนวความคิดของท่าน

บทที่ 1 ท่านไม่สามารถชนะการโต้แย้ง
- มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นที่จะบันดาลให้การโต้แย้งเป็นสิ่งดีที่สุด นั่นก็คือ หลบหลีกมันเสีย จงหลบหลีกการโต้แย้ง เช่นเดียวกับท่านหลบหลีกงูพิษ
- 9 ใน 10 ครั้งของการโต้แย้ง จะจบลงด้วยต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นยิ่งขึ้นไปกว่าเก่าว่า ตนเป็นฝ่ายถูกเต็มที่
- "คนที่จำใจต้องเชื่อ ในสิ่งที่เขาไม่เชื่อ ความคิดเห็นของเขาจะไม่เปลี่ยนแปลง"
- เบนจามิน แฟรงคลิน กล่าวไว้ว่า "ถ้าท่านโต้แย้ง พูดให้เจ็บใจ และ เถียง ท่านอาจประสบชัยชนะในบางครั้ง แต่เป็นชัยชนะที่ว่างเปล่า ทั้งนี้ก็เพราะท่านไม่สามารถได้รับไมตรีจิตจากอีกฝ่ายหนึ่ง" ดังนั้นขอให้ท่านพิจารณาด้วยตนเองว่า ท่านต้องการชัยชนะในการโต้แย้ง หรือต้องการไมตรีจิตจากอีกฝ่ายหนึ่ง? น้อยนักที่จะได้รับทั้งสองอย่าง
- "เป็นสิ่งสุดวิสัย ที่จะเอาชนะคนโง่เขลา เบาปัญญา ด้วยการโต้แย้ง"
- พระพุทธเจ้าตรัส "เวร (ความเกลียด ความพยาบาท) ย่อมไม่ระงับด้วยเวร แต่ระงับด้วยความรัก" และทำนองเดียวกัน ความไม่เข้าใจต่อกัน ย่อมจะไม่ระงับด้วยการโต้แย้ง แต่ด้วยความรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ความสุขุมรอบคอบ ความประนีประนอม และความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นแง่คิดของอีกฝ่ายหนึ่งได้
- ลินคอน กล่าว "บุคคลใดมีเจตนาที่จะได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อตัวเขาเอง เขาจะไม่ใช้เวลาให้หมดไปโดยการโต้เถียงเป็นอันขาด การโต้เถียงจะเป็นผลให้เกิดโทสะ และทำลายอำนาจบังคับตนเอง และจงยอมจำนนต่อการโต้เถียงในเรื่องใหญ่ ซึ่งผลที่ท่านจะได้รับ ไม่มีอะไรมากไปกว่าการอวดตนว่าท่านไม่แพ้ใคร และจงยอมจำนนต่อการโต้เถียงในเรื่องเล็ก แม้ท่านมีสิทธิ์ที่จะกระทำอย่างเต็มที่ จงให้ทางแก่หมาแทนที่ท่านจะต่อสู้กับมัน เพื่อรักษาสิทธิ์ของท่านจนท่านถูกมันกัดเอา แม้ท่านจะฆ่าหมาตัวนั้นเสีย แต่ท่านก็ยังคงมีแผลถูกกัดอยู่นั่นเอง
- ฉะนั้น กฎข้อที่ 1 มีดังนี้
วิธีระงับการโต้แย้ง หรือโต้เถียง ที่ดีที่สุดก็คือ จงหลีกเลี่ยงเสีย

บทที่ 2 หนทางอันแน่นอนที่จะสร้างศัตรู และวิธีหลีกเลี่ยง
- ท่านจะกล่าวหาผู้อื่นว่าทำผิด ด้วยสายตา ด้วยสำเนียง หรือด้วยอากัปกิริยาใดก็ตาม ย่อมมีความหมายทำนองเดียวกับ ท่านลั่นวาจาออกไป
- การกล่าวหาของท่านเปรียบเสมือนท่านชกกร้วมเข้าที่สติปัญญาของเขา ดุลยพินิจของเขา ความภาคภูมิใจของเขา และความเคารพตนเองของเขา ผลก็คือ จะทำให้เขาผู้นั้นต้องการจะตอบโต้บ้าง
- อย่าเริ่มคำพูดด้วยประโยค "ผมจะพิสูจน์ให้คุณเห็นเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้" เป็นวาจาที่ไม่สมควรเลย เป็นวาจาที่ส่อ ความหมายว่า "ผมวิเศษกว่าคุณ"
- ถ้าท่านต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม จงอย่าให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ตัวเป็นอันขาด จงกระทำอย่างมีชั้นเชิง อย่างมีไหวพริบ โดยไม่มีใครรู้สึกว่าท่านได้กระทำลงไป "มนุษย์จะต้องสอนเหมือนกับท่านมิได้สอน และ สิ่งใดที่เขาไม่รู้ จงเสนอแก่เขา เหมือนหนึ่งเขาลืมไป"
- Lord Chesterfield รัฐบุรุษ-นักปราชญ์อังกฤษ ค.ศ.1694-1737 สอนลูกชายว่า "เจ้าจงเป็นผู้ฉลาดกว่าผู้อื่น ถ้าเจ้า สามารถเป็นเช่นนั้นได้ แต่อย่าได้บอกให้เขารู้ว่าเจ้าฉลาดกว่าเขา"
- คำพูดเช่น "ผมอาจจะผิดไปก็ได้" "ผมมักจะผิดเสมอ" "เรามาพิจารณาข้อเท็จจริงกันดีกว่า" เป็นคำพูดซึ่งมีอำนาจวิเศษอย่างแท้จริงใน อันที่จะทำความพอใจให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง
- ด้วยการยอมรับว่าท่านอาจจะเป็นผู้ผิด ท่านจะไม่มีเรื่องกับใครเป็นอันขาด เพราะการพูดเช่นนี้จะยุติการถกเถียงลงอย่างสิ้นเชิง และ "จูงใจให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความยุติธรรม และใจกว้างเหมือนท่าน"
- จากหนังสือ "การสร้างจิตใจ" ของ ศ.เยมส์ อาร์วีย์ รอบินซัน :-
"ในบางครั้งเราจะพบว่า เราเปลี่ยนใจของเราอย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องมีเรื่องขัดใจ หรือเกิดความสะเทือนใจอันรุนแรง
ใดๆ แต่ถ้ามีใคร มาบอกว่าเราผิด เราจะรู้สึกฉิวในคำกล่าวหานั้น และใจของเราจะเกิดอาการกระด้างกระเดื่องขึ้นมา เราต่างเป็นคนที่ไม่สู้จะเอาใจใส่เลยว่า ความเชื่อถือของเราอยู่ในลักษณะใดบ้าง แต่ถ้าหากมีใครมาข่มเหงน้ำใจเรา เราจะเกิดความเชื่อในสิ่งที่เราเชื่ออย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ไม่ใช่ ความคิดของเราหรอกที่เราหวงแหนนัก แต่เราหวงแหน ความนับถือตนเองโดยจะไม่ยอมให้ถูกข่มขู่ต่างหาก"
- เมื่อเราทำผิด เราอาจจะยอมรับผิดกับตัวของเราเอง ถ้าผู้อื่นรู้จักปฏิบัติต่อเราด้วยวิธีอันละมุนละไม และถูกกาละเทศะ เราอาจจะยอมรับผิด กับผู้นั้นอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาโดยปราศจากความสะทกสะท้าน แต่เราจะไม่ยอมรับผิดเป็นอันขาด ถ้ามีใครมาบังคับขู่เข็ญให้เราพูด ความจริง
- ละเว้นการคิดค้านโต้แย้งให้ผู้อื่นได้รับความสะเทือนใจ หรือกล่าวยืนยันอย่างหนึ่งอย่างใดว่าข้าพเจ้าถูก และข้าพเจ้า จะไม่ยอมใช้คำพูด ใดๆ ที่บ่งไปโดยชัดแจ้งว่าข้าพเจ้ามีความคิดเห็นอย่างแน่นแฟ้นมั่นคง เป็นต้นว่า "แน่ทีเดียว" , "ไม่มีอะไรที่ควรสงสัย" ฯลฯ ข้าพเจ้าใช้คำพูด แทนว่า "ฉันนึกว่า" , "ฉันเข้าใจว่า" หรือ "ฉันคิดว่า" จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือ "เท่าที่ปรากฎเวลนี้ดูเหมือน" เบนจามิน แฟรงคลิน นัก การทูตชั้นยอดของสหรัฐฯ กล่าวไว้ว่า"เมื่ออีกฝ่ายหนึ่ง ยืนยันบางประการ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเขาผิด ข้าพเจ้าไม่ยอมถือเป็นของสนุกที่จะขัดคอเขาทันที หรือแสดง กิริยาอย่างหนึ่งอย่างใดไปในทางเยาะเย้ยความเข้าใจของเขา"
- การถ่อมตนในการแสดงความคิดเห็น ช่วยให้คู่สนทนายอมรับความคิดเห็นของเราง่ายยิ่งขึ้น และมีการโต้เถียงน้อยลง ถ้าเราผิดก็จะไม่ รู้สึกอับอายขายหน้ามากมาย เมื่อเราถูก เราจะสามารถจูงใจอีกฝ่ายหนึ่งให้ยอมแพ้อย่างง่ายดาย และมีความคิดเห็นคล้อยตามเรา
- พระเยซูพูด "จงคล้อยตามปรปักษ์ของท่านโดยเร็ว" หรืออีกนัยหนึ่งคือ อย่าโต้แย้งลูกค้าของท่าน ภรรยาของท่าน หรือปรปักษ์ของท่านอย่าบอกว่าเขาผิด อย่ายั่วให้เขาเกิดโทสะ แต่จงใช้ชั้นเชิงบ้างสักเล็กน้อย
- จงมี "ชั้นเชิง" อย่าช่วยให้เราได้ชัยชนะ
ดังนั้น ถ้าท่านต้องการจูงใจผู้อื่นให้คล้อยตามแนวความคิดของท่าน
กฎข้อที่ 2 มีดังนี้
"จงเคารพความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง อย่าบอกผู้ใดว่าเขาผิดเป็นอันขาด"

บทที่ 3 ถ้าท่านผิด จงสารภาพ
- ถ้าเรารู้ตัวว่าเราทำผิด จะไม่ดีกว่าหรือที่เราจะกล่าวถึงความผิดของเราก่อนอีกฝ่ายหนึ่งจะแย้มปาก? "การตำหนิติเตียนตนเอง ย่อมจะน่าฟังกว่าให้คนแปลกหน้า หรือคนอื่นมาตำหนิติเตียนเรา"
- ท่านจงปรักปรำลงโทษตัวของท่านในประการต่างๆ ถ้าหากท่านรู้ตัวว่าอีกฝ่ายหนึ่งคิด หรือต้องการจะพูด หรือตั้งใจจะพูดอย่างไร และ ท่านจงพูดก่อนอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสแย้มปาก ซึ่งเป็นการลดความโมโหโทโสของเขาให้สงบลงได้ จากการกระทำเช่นนี้ ท่านมีโอกาสอัน งดงามที่จะจูงใจให้เขาเป็นคนใจกว้าง เปลี่ยนท่าทีโอนอ่อนไปในทางให้อภัย และจะเห็นความผิด ของท่านเป็นสิ่งเล็กน้อย
- คนโง่มักจะแก้ตัวเมื่อได้กระทำผิด และคนโง่ส่วนมากปฏิบัติเช่นนี้ แต่ด้วยการสารภาพผิดอย่างน่าชื่นตาบาน ไม่เพียงจะทำให้คนเรา กลายเป็นผู้อยู่เหนือกว่าฝูงสัตว์ หากจะทำให้มีใจสูงขึ้นด้วย
- เมื่อเราเป็นฝ่ายถูก เราจงชักจูงอีกฝ่ายหนึ่งให้มาสู่แนวทางแห่งความคิดของเราอย่างสุภาพและ นิ่มนวล และเมื่อเราเป็นฝ่ายผิด ถ้าเรามีใจ เที่ยงตรง เราจะพบความจริงว่าเราเป็นฝ่ายผิดบ่อยๆ เราจงยอมรับผิดโดยเร็ว และด้วยความร้อนกระวนกระวาย วิธีรับผิดนี้ไม่เพียงแต่จะนำ ผลอันน่าพิศวงมาให้เท่านั้น หากท่านจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยการใช้วิธีเดียวกันนี้ จะทำให้เราเกิดอารมณ์สนุกยิ่งกว่าพยายามแก้ตัว
- สุภาษิตเก่า "ด้วยการต่อสู้ ท่านจะมิได้รับผลเป็นที่พอใจ แต่ด้วยการยอมจำนน ท่านจะได้รับมากกว่าที่ท่านหวัง
ดังนั้นกฎข้อที่ 3 :-
ถ้าท่านผิด จงรับผิดโดยอย่าได้รอช้า และ รับด้วยเสียงหนักแน่น

บทที่ 4 หนทางอันเลิศที่จะเข้าถึงเหตุผลของผู้อื่น
- "ถ้าหากท่านถูกยั่วให้เกิดโทสะ และท่านพูดใส่หน้าอย่างไม่อั้นต่อผู้ยั่วโทสะท่านสักประโยคสองประโยค ท่านจะสบายใจที่ได้ระบาย ความเดือดดาลของท่าน แล้วอีกฝ่ายหนึ่งเล่า? เขามีส่วนร่วมสบายใจเหมือนท่านหรือเปล่า การเอะอะโผงผางของท่าน กิริยาท่าทีตั้งท่าเป็น ศัตรูของท่าน ท่านคิดว่าเป็นของง่ายที่จะชักนำให้เขามีความเห็นสอดคล้องกับท่านกระนั้น หรือ?"
- วูดโรว์ วิลสัน กล่าว "ถ้าท่านมาหาข้าพเจ้าด้วยการกำหมัด ข้าพเจ้าขอรับรองว่า หมัดของข้าพเจ้าจะกำแน่นยิ่งไปกว่า
ของท่าน แต่ถ้าท่าน มาหาข้าพเจ้าและพูดว่า "เรามานั่งลงปรึกษาหารือกันดีกว่า และถ้าหากว่าความคิดเห็นของเราขัดแย้งกัน เรามาทำความเข้าใจกันว่าเหตุใดเรา จึงมีความเห็นไม่ตรงกัน และอะไรเป็นแง่ในปัญหานั้น" เราจะพบความจริงว่าเรา กลายเป็นกันเอง และความเห็นขัดแย้งกันในแง่ต่างๆ จะมี อยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อย ในเมื่อแง่ที่มีความเห็นสอดคล้องกันมีอยู่มาก และถ้าเราเป็นคนรู้จักมีน้ำอดน้ำทน พูดอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา และ มีเจตนาที่จะสมัครสมานซึ่งกันและกัน เราจะผ่อนสั้น ผ่อนยาวเข้าหากัน"
- ถ้าบุคคลใดมีใจปวดร้าวอยู่ด้วยความขุ่นแค้นและโกรธเคืองท่าน ท่านจะไม่สามารถจูงใจเขาให้คล้อยตามแนวความคิด ของท่านเป็นอันขาด แม้จะใช้หลักตรรกวิทยาที่มีอยู่ทั้งหมดในโลก พ่อแม่ที่ชอบดุด่า และนายหรือสามีที่ชอบใช้อำนาจ หรือภรรยาที่ชอบจู้จี้ ควรจะรู้ความจริงว่า จากการปฏิบัติดังกล่าว จะไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนใจ ท่านและข้าพเจ้าสามารถบังคับบีบคั้นให้บุคคลใดมีความคิดเห็นสอดคล้องกับเรา ได้ ถ้าเราใช้วิธีสุภาพอ่อนโยนอย่างกันเอง เราจะสามารถ จูงใจเขาเหล่านั้นให้คล้อยตามแนวความคิดของเราได้
- ลินคอล์น กล่าว "น้ำผึ้งเพียงหยดเดียว จับแมลงวันได้มากกว่าน้ำบอระเพ็ด 1 แกลลอน" เพราะฉะนั้น ถ้าท่านต้องการจูงใจผู้อื่นให้เห็น ดีเห็นชอบในวัตถุประสงค์ของท่าน สิ่งแรกที่สุดที่ท่านจะต้องปฏิบัติก็คือ ทำให้เขาเชื่อถือว่าท่านเป็นมิตรสุจริตของเขา ด้วยเหตุนี้เองถ้าท่านจะใช้น้ำผึ้งสักหยดหนึ่งเหยาะลงในหัวใจของอีกฝ่าย หนึ่ง
ให้ชื่นฉ่ำ ซึ่งท่านจะพูดอะไรแก่เขาก็ตาม จะเป็นทางอันล้ำเลิศที่จะดึง เหตุผลของเขาให้หันมาสอดคล้องกับของท่าน
- ติดต่อฉันมิตร เห็นอกเห็นใจ และ ขอร้องในอาการยกย่อง
- ความสุภาพอ่อนโยน และไมตรีจิต จะต้องมีอิทธิฤทธิ์มากกว่าความฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด และการใช้กำลังบังคับเสมอ
สรุป เมื่อท่านต้องการจูงใจให้ผู้อื่นคล้อยตามแนวความคิดของท่าน
กฎข้อที่ 4 :-
จงเริ่มต้นด้วยมิตรไมตรี

บทที่ 5 เคล็ดลับของโซเครตีส
- ในการสนทนากับผู้อื่น อย่าได้เริ่มต้นพูดในเรื่องที่ท่านไม่เห็นพ้องด้วย แต่จงเริ่มต้นด้วยการเน้นคำพูดให้หนักแน่น และเน้นคำพูดนี้ อยู่ตลอดเวลาในสิ่งที่ท่านเห็นพ้องด้วย
- จงทำให้อีกฝ่ายหนึ่งพูด "ใช่" , "ใช่แล้ว", "ครับ" , "ถูก" , "ถูกแล้ว" เมื่อเริ่มต้นการสนทนา ถ้าสามารถทำได้ จงอย่าให้อีกฝ่ายหนึ่ง กล่าวคำปฏิเสธ "ไม่ใช่" , "เปล่า" เป็นอันขาด
- ยิ่งเราสามารถทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวคำพูดรับคำได้มากเท่าใดในการเปิดฉาก การสนทนา ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ จะชักจูงให้อีก ฝ่ายหนึ่งยอมตกลงใจตามจุดประสงค์ของเรามากยิ่งขึ้นเท่านั้น
- ในการเปิดฉากสนทนา พวกเรามักจะคิดถึงแต่ความยิ่งใหญ่ของตนเอง ผลก็คือ ทำให้เกิดตั้งข้อเข้าหากันตั้งแต่แรกเริ่ม
- โซเครตีสจะตั้งคำถามชนิดที่แม้ศัตรูของเขาก็ต้องรับคำ คำถามของเขาจะถูกอีกฝ่ายหนึ่งตอบว่า "ใช่" จนกระทั่งเขา ได้รับคำรับรองอย่าง เหลือเฟือ ครั้นแล้วในที่สุด เขาจะตั้งคำถามประโยคสำคัญ ซึ่งปรปักษ์ของเขาแทบไม่รู้สึกตัว ได้กล่าวรับรองทั้งๆก่อนหน้านี้ไม่กี่นาทีตั้งใจที่ จะยืนกรานปฏิเสธ
- สุภาษิตเก่าๆของจีน "ผู้ก้าวอย่างละมุนละไม จะเดินได้ไกล"
สรุปกฎข้อที่ 5
จงทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง ตอบรับคำว่า "ครับ", "ใช่", "ถูก"ฯลฯ ในทันทีเมื่อเริ่มสนทนา

บทที่ 6 วิธีกำจัดความไม่สมหวัง
- ในบางครั้ง การปล่อยให้ผู้อื่นเป็นฝ่ายพูด จะนำประโยชน์อย่างล้ำค่ามาให้
- ผู้ประสบความสำเร็จเกือบทุกคน ชอบระลึกถึงการต่อสู้ดิ้นรนในอดีต (ใช้ในเทคนิคการพูด สนทนากับผู้ที่มีความสำเร็จในชีวิต)
- มีความจริงอยู่ว่า มิตรสหายทั้งหลายของเราพอใจที่จะคุยกับเราถึงเรื่องความสำเร็จต่างๆของเขา ยิ่งกว่าที่จะฟังเราโม้ถึงเรื่องของเรา
- "ถ้าท่านต้องการศัตรู จงเป็นคนเก่งกล้าสามารถเหนือกว่าเพื่อนของท่าน แต่ถ้าท่านต้องการมิตร จงให้เพื่อนของท่าน เก่งกล้าสามารถ เหนือไปกว่าท่าน" เพราะว่าเมื่อเพื่อนของเราเก่งกล้าสามารถเหนือกว่าเรา เขาจะเกิดความรู้สึกเป็นคนสำคัญ แต่ถ้าเราเก่งกล้าสามารถเหนือ กว่าเขา เขาจะเกิดความรู้สึกต่ำต้อย และก่อให้เกิดความอิจฉาริษยา
- ชาวเยอรมันมีสุภาษิตอยู่ประโยคหนึ่งว่า "ความปิติยินดีอย่างแท้จริงก็คือ ความปิติยินดีซึ่งเราได้รับจากเคราะห์กรรมของผู้อื่น" แน่นอน เพื่อนบางคนของท่านอาจจะรู้สึกพอใจในเคราะห์กรรมของท่าน ยิ่งไปกว่าชัยชนะของท่านก็ได้
- เพราะฉะนั้น เราจง "อย่าฟุ้งซ่าน โอ้อวดในความสำเร็จของเรา" แต่เรา "จงถ่อมตน" เอาไว้ถึงจะได้รับความนิยม ชมชอบอย่างแท้จริงจากผู้อื่น
- เราควรถ่อมตัวของเรา ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อสรุปแล้วท่านและข้าพเจ้าก็ไม่วิเศษวิโสกว่ากัน จากนี้ไปอีกหนึ่งศตวรรษ ท่านและ ข้าพเจ้าต่างจะ ไม่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ และจะไม่มีใครรู้จัก ชีวิตเป็นของสั้นจนเกินไป เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยให้ชีวิตอันสั้น ของเราสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น ด้วยการคุยโอ้อวดถึงความสำเร็จขี้ปะติ๋วของเรา เราจงส่งเสริมให้ผู้อื่นคุยเสียบ้างเถิด โปรดคิดดูให้ดี ท่านมิได้มีอะไรวิเศษมากมายที่จะคุย อวดโดยไม่รู้จักจบรู้จักสิน้นเสียที
ดังนั้น กฎข้อที่ 6
จงปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้พูดเป็นส่วนมาก

บทที่ 7 วิธีที่จะได้รับความร่วมมือ
- ท่านรู้สึกเลื่อมใสในความคิดที่ท่านค้นพบด้วยตนเองยิ่งไปกว่าความคิดซึ่งผู้ อื่นค้นพบ และใส่จานเงินยื่นส่งให้ท่านหรือเปล่า? ถ้าเช่นนั้นจริง เป็นของแน่เหลือเกินที่ท่านจะต้องพยายามผลักดันความคิดของท่านให้คนอื่นรับ ไว้ ใช่ไหม? มันจะไม่เป็นการฉลาดกว่าหรือ? ถ้าเพียงแต่หารือความคิดของท่านกับอีกฝ่ายหนึ่ง และให้อีกฝ่ายหนึ่งใคร่ครวญดูเพื่อการตัดสินใจของเขาเอง
- "การปรึกษาหารือ" กับเขาถึงความปรารถนาของเขา จึงเป็นสิ่งที่ถูกใจเขาที่สุด
- การปรึกษาหารือกับผู้อื่น และเคารพต่อคำแนะนำนั้น จะได้รับผลอันงดงาม
- เมื่อ 25 ศตวรรษมาแล้ว เล่าจื๊อ นักปราชญ์จีนได้กล่าววาทะบางอย่างซึ่งควรจะนำมาปฏิบัติในปัจจุบัน : "เหตุที่แม่น้ำลำคลอง และทะเลทั้งหลายสามารถจะต้อนรับสายน้ำหลายร้อยสายจากภูเขาได้เนื่องจากแม่ น้ำลำคลองและทะเลเหล่านั้นอยู่ต่ำกว่าสายน้ำจากภูเขา เพราะฉะนั้น แม่น้ำลำคลองและทะเลจึงเก่งเหนือไปกว่าสายน้ำจากภูเขา โดยที่สามารถรับกระแสน้ำทั้งหมดไว้ได้ ผู้ที่เฉลียวฉลาด ถ้าปรารถนาจะอยู่เหนือ ผู้อื่น ต้องถ่อมตนให้อยู่ต่ำกว่าผู้อื่น ถ้าปรารถนาจะอยู่หน้าผู้อื่น จะต้องถ่อมตนให้อยู่หลังผู้อื่น แต่เขาจะไม่หยิ่งผยอง และถือว่าตนเป็น ผู้ยิ่งใหญ่ แม้ว่าเขาจะมีบุญวาสนานำหน้าผู้อื่น เขาจะไม่อวดเด่นให้บาดใจผู้อื่น
ฉะนั้น กฎข้อที่ 7
จงทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง เกิดความรู้สึกว่าความคิดเป็นของเขา

บทที่ 8 สูตรซึ่งจะบันดาลผลมหัศจรรย์แก่ท่าน
- อย่าลืมว่าบุคคลใดก็ตาม อาจจะทำผิดอย่างไม่มีทางแก้ตัว แต่บุคคลนั้นจะคิดว่าเขาไม่ผิดเลย ท่านจงอย่าปรักปรำลงโทษเขาผู้นั้น เพราะการ กระทำเช่นนั้น คนโง่ทุกคนย่อมทำได้ ท่านจงพยายามเข้าใจเขาให้ถี่ถ้วน
ถ่องแท้ เพราะการพยายามเข้าใจการกระทำของผู้ผิด คนฉลาด คนมี น้ำอดน้ำทน และคนที่มีคุณสมบัติเป็นพิเศษเท่านั้น จึงจะสามารถปฏิบัติได้
- จงพยายามอย่างสุจริตใจที่จะสมมุติตัวท่านเป็นตัวของเขา
- ถ้าหากท่านจะบอกตนเองว่า "ถ้าฉันอยู่ในฐานะเดียวกับเขา ฉันจะรู้สึกอย่างไร และจะปฏิบัติอย่างใร?" ท่านจะไม่เสียเวลาและเกิดโมโห ในการที่จะต้องไปเอาใจใส่แก่สาเหตุต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลอันไม่พึงพอใจ และท่านจะสามารถเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ มากยิ่งขึ้น
- พรุ่งนี้ ก่อนท่านจะบอกใครสักคนว่าเขาทำในสิ่งที่ผิดๆ ไม่ดีกว่าหรือถ้าท่านจะนั่งหลับตา และพยายามคำนึงถึงแง่คิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง เสียก่อน ท่านจงตั้งคำถามแก่ตนเองว่า "ทำไม? เขาจึงต้องการทำเช่นนั้น" จริงอยู่การปฏิบัตินี้อาจเปลืองเวลาบ้าง แต่จะเป็นการผูกมิตรและ นำผลอันงดงามกว่ากันมาให้ และเป็นการหลีกเลี่ยง ไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง และทะเลาะเบาะแว้งกัน
- เพราะฉะนั้น ถ้าท่านต้องการเปลี่ยนใจผู้อื่น โดยไม่ให้เกิดความรู้สึกบาดหมาง หรือก่อให้เกิดความขุ่นเคือง
กฎข้อที่ 8 มีดังนี้
จงพยายามอย่างสุจริตใจที่จะมองสิ่งต่างๆ ในแง่คิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง

บทที่ 9 สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ
- คาถาศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถหยุดการโต้เถียง ทำลายความรู้สึกโกรธเคือง สร้างมิตรไมตรี และทำให้อีกฝ่ายหนึ่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ "ผมมิได้ โทษคุณเลยแม้แต่น้อยที่คุณรู้สึกเช่นนี้ ถ้าผมเป็นคุณ แน่นอนเหลือเกิน ผมจะต้องรู้สึกเหมือนอย่างคุณ เช่นเดียวกัน" คำพูดเช่นนี้แม้แต่คนพาลเกเรอย่างร้ายกาจที่สุดก็จะเยือกเย็นลง
- ท่านอยู่ในฐานะใดก็ตาม ควรถือว่า มิได้เป็นเกียรติอันใหญ่โตเลย และจำไว้ว่า คนที่ท่านติดต่อด้วย แม้จะเป็นคนขี้หงุดหงิด ฉุนเฉียว พูด ดันทุรัง และปราศจากเหตุผล เขามิได้เป็นต่ำช้าสารเลวมากมายนักที่ต้องอยู่ในฐานะนั้น จงรู้สึกสลดใจต่อ มนุษย์ที่น่าสมเพชคนนั้น จง สงสารเขา เห็นใจเขา
- "3 ใน 4 ของบุคคลที่ท่านพบปะ ล้วนแต่หิวกระหายที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจ จงให้มันแก่เขา แล้วเขาจะรักท่าน"
- ความเห็นอกเห็นใจ เป็นยาวิเศษที่จะบำบัดความเศร้าใจ
ฉะนั้น กฎข้อที่ 9
จงเห็นอกเห็นใจต่อความรู้สึกนึกคิด และความปรารถนาของอีกฝ่ายหนึ่ง

บทที่ 10 มนุษย์ทุกคนชอบการขอร้อง
- เพื่อให้บุคคลใดก็ตามเปลี่ยนใจของเขา จงขอร้องให้เขาเกิดความรู้สึกว่า การปฏิบัตินั้นๆเป็นเจตนาดีงาม ยิ่งกว่าการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง
- เมื่อเราไม่ต้องการให้ใครทำอะไรอย่างหนึ่ง จงขอร้องเขาด้วยการอ้างถึงเจตนาที่ดีงามกว่ากัน อ้างถึงสิ่งที่เป็นสิ่ง ที่รักและเคารพ
- "ถ้ามีใครคิดที่จะโกงท่าน" จงพูดให้เขาเกิดความรู้สึกว่า ท่านนับถือเขาในฐานะเขาเป็นคนสุจริต ซื่อตรง และยุติธรรม
ฉะนั้น กฎข้อที่ 10
จงขอร้องด้วยการพูดให้รู้สึกว่า เป็นเจตนาอันดีงามกว่ากัน

บทที่ 11 ภาพยนตร์ปฏิบัติเช่นนี้ วิทยุปฏิบัติเช่นนี้ ทำไมท่านจึงไม่ปฏิบัติตามบ้าง?
- เวลาที่ต้องการเสนออะไรบางอย่าง เพียงแต่กล่าวความจริงอย่างเดียวยังไม่พอ การกล่าวความจริงต้องประกอบด้วย พูดให้ซาบซึ้ง เขย่า ความสนใจ และเกิดความรู้สึกเร้าใจ ทั้งนี้ต้องอาศัยศิลปะแห่งการเชิญชวนอยู่มาก ภาพยนตร์ วิทยุ ปฏิบัติ เช่นนี้ ถ้าต้องการให้มีผู้เอาใจใส่ ข้อเสนอของท่าน ท่านก็ต้องปฏิบัติเช่นนี้
ฉะนั้น กฎข้อที่ 11
จงแสดงความคิดเห็นของท่านให้เป็นที่เร้าใจ

บทที่ 12 เมื่อทำอย่างไรๆ ก็ไม่ได้ผล ลองใช้วิธีนี้ดูบ้าง
- วิธีที่จะผลิตงานได้มากๆ ก็คือ การ "กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกัน" แต่ไม่ได้หมายถึงการแข่งขันอันโสมมและต้องทุ่มเทเงินทอง แต่หมายถึงกระตุ้นให้เกิดความปรารถนาที่จะเป็นคนเก่งกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
- ความปรารถนาที่จะเก่งกว่า! การแข่งขัน! เป็นวิธีเดียวที่จะบันดาลผลอันแน่นอนในการหนุนให้มนุษย์เกิดความมานะ
- "การให้เงินเดือนอย่างเดียว ไม่สามารถจะได้คนดีไว้ใช้ ต้องให้มีการแข่งขัน"
- นั่นคือ สิ่งที่ผู้ได้รับความสำเร็จทุกคนชอบ : การแข่งขัน การแข่งขันเป็นการเปิดโอกาสให้เขาแสดงความสามารถของเขา เปิดโอกาสให้ เขาพิสูจน์คุณค่าตัวของเขา เพื่อไปสู่จุดหมายแห่งการเป็นคนเก่ง และชัยชนะ
ถ้าท่านต้องการจูงใจบุคคลอื่น บุคคลที่องอาจห้าวหาญ บุคคลที่มีสมรรถภาพ ให้คล้อยตามแนวความคิดของท่าน
กฎข้อที่ 12 มีว่า
จงพูดท้าทาย


ตอนที่ 4 วิธีปฏิบัติ 9 ประการเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้อื่น โดยไม่ให้มีความรู้สึกบาดหมางขุ่นเคือง

บทที่ 1 ถ้าท่านต้องการคอยจับผิด นั่นคือวิธีที่จะปิดฉาก
- การที่บุคคลใดก็ตาม ได้ยินในสิ่งที่ไม่รื่นหู หลังจากได้ฟังคำชมเชยในสิ่งที่ดีก่อน จะช่วยให้บุคคลนั้นสามารถฟังได้ โดยไม่เกิดความรู้สึก ขุ่นเคืองแต่อย่างใด
จงเริ่มสนทนาด้วยคำพูดยกย่องสรรเสริญอย่างสุจริตใจ

บทที่ 2 วิธีวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ทำให้ผู้ใดเกลียด
- ตอนเที่ยงวันหนึ่ง ชารลส์ ชะวอบ เดินผ่านโรงถลุงเหล็กโรงหนึ่งของเขา เขาได้มองเห็นคนงานกลุ่มหนึ่งกำลังสูบบุหรี่กัน เหนือหัวของ คนงานเหล่านั้นมีป้ายแขวนไว้ว่า "ห้ามสูบบุหรี่" ท่านคิดว่าชะวอบชี้ที่ป้ายนั้นและพูด "อ่านหนังสือเป็นไหม?" หรือเปล่า? มิได้ ชะวอบมิได้ เป็นคนเช่นนั้น เขาเดินไปหาคนเหล่านั้น ควักซิการ์ส่งให้คนละมวน และพูด "จะดีไม่น้อย ถ้าพวกคุณพากันไปสูบซิการ์นี้กันข้างนอก" คนงานเหล่านี้ตระหนักดีว่าชะวอบรู้ว่าเขาได้พากันฝ่าฝืนกฎ เขาต่างพากันนึกชมเชยชะวอบไปตามๆกัน ชะวอบมิได้พูดถึงความผิดนี้เลย มิหนำซ้ำกลับกำนัลซิการ์แก่เขา "ทั้งนี้ทำให้เขาเกิดความรู้สึกเป็นคนสำคัญ ถ้าท่านมีนายอย่างนี้ ท่านจะอดรักเขาได้ไหม?"
จงอย่าเตือนผู้อื่นอย่างตรงไปตรงมาว่าเขาผิด

บทที่ 3 จงพูดถึงความผิดของท่านก่อน
- ท่านจะไม่รู้สึกขุ่นเคืองอย่างใดเลยในการที่จะฟังใครคนหนึ่งตำหนิติเตียน ท่าน ในเมื่อเขาผู้นั้นเริ่มพูดด้วยการยอมรับ อย่างอ่อนโยนว่า เขา, ในทำนองเดียวกัน, ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปจากการกระทำผิดอย่างไม่มีที่ติเสียได้
ท่านจงพูดถึงความผิดของท่านก่อน แล้วจึงตำหนิติเตียนผู้อื่น

บทที่ 4 ไม่มีใครชอบรับคำสั่ง
- ควรให้โอกาสผู้ร่วมงานพินิจพิจารณางานด้วยตนเอง ให้ทำการศึกษาจากความผิดนานาประการเอาเอง
- เทคนี้ช่วยให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้รับความสะดวกในการแก้ไขความผิดพลาด ของตน เทคนิคนี้เป็นการให้เกียรติ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกเป็นคนสำคัญ ผลก็คือ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจะทำด้วยความปรารถนาร่วมมือ แทนที่จะเอาใจออกห่าง
จงขอความเห็น แทนการออกคำสั่งโดยตรง

บทที่ 5 จงกู้หน้าอีกฝ่ายหนึ่ง
- กู้หน้าของเขาไว้ ! มันเป็นสิ่งสำคัญ และสำคัญอย่างใหญ่หลวงทีเดียว ! พวกเราน้อยคนนักที่จะหยุดคิดถึงสิ่งนี้ ! "เรามักจะขี่ม้า สวมเกือกมีตะปูแหลมคม ย่ำลงไปที่ความรู้สึกของผู้อื่น" ด้วยการถือเอาแต่ใจของเราฝ่ายเดียว เช่น คอยจับผิด ขู่ตะคอก ดุว่าเด็ก หรือเสมียน พนักงานต่อหน้าผู้อื่นโดยปราศจากความยั้งคิดว่าเป็นการทำให้ปวดร้าวชอกช้ำ แก่เกียรติของเขาอย่างไรบ้าง ! ในเมื่อเพียงแต่สงบจิตสงบใจ ใช้ความคิดสักประเดี๋ยวหนึ่ง ใช้วาจาที่ประหยัดถ้อยคำเพียง
ไม่กี่คำ มีความเห็นใจในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง จะไม่ก่อให้เกิดความปวดร้าว ขุ่นเคืองแต่อย่างใดเลย
- แม้แต่บุคคลใหญ่โตที่โลกรู้จักดี ยังไม่ยอมเสียเวลาที่จะกำแหงในชัยชนะของเขา จนไม่กู้หน้าผู้แพ้
จงกู้หน้าอีกฝ่ายหนึ่ง

บทที่ 6 วิธีกระตุ้นให้มนุษย์ก้าวไปสู่ความสำเร็จ
- ใช้การชมเชยแทนการด่าว่า "เราจะชมเชย แม้แต่ในสิ่งที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย" ในการปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยเป็นกำลังดันให้อีกฝ่ายหนึ่ง ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ
- เมื่อพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงผู้อื่น ถ้าท่านและข้าพเจ้าสนับสนุนกำลังใจบุคคลที่สัมพันธ์กับเรา ด้วยการให้เขาสำนึกในคุณค่าแห่ง ความสามารถซึ่งซ่อนอยู่ในกายของเขา เราไม่เพียงแต่จะสามารถเปลี่ยนแปลงเขาเท่านั้น หากเราจะเปลี่ยนรูปชีวิตของเขาทีเดียว
- ถ้าลองเปรียบเทียบดูว่า เราควรจะอยู่ในฐานะใด เราเพียงแต่เป็นคนครึ่งหลับครึ่งตื่นดีๆนี่เองเราได้ใช้ประโยชน์ ขุมทรัพย์แห่งร่างกาย และจิตใจของเราแต่ส่วนน้อยเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือหมายความว่า มนุษย์เราต่างดำรงชีวิต อยู่ห่างไกลจากจุดหมายที่เราควรจะ ก้าวไปถึง มนุษย์เราต่างมีพลังอยู่นานาชนิด พลังซึ่งเขามักจะล้มเหลวอยู่เสมอ ในอันที่จะใช้มันให้เป็นประโยชน์
จงยกย่องสรรเสริญผู้อื่น แม้เขาได้ทำสิ่งใดๆดีขึ้นเพียงเล็กน้อยและยกย่องทุกครั้งที่เขาทำ สิ่งใดๆได้ดียิ่งขึ้น จง "เห็นพ้องด้วยน้ำใส ใจจริง และยกย่องชมเชยอย่างเต็มที่"

บทที่ 7 จงตั้งชื่อหมาให้เพราะ
- มนุษย์เราตามปกติธรรมดา จะจูงใจได้ง่ายดาย ถ้าเขานับถือท่าน และท่านแสดงความเลื่อมใสต่อความ ปรารถนาบางประการของเขา
- ถ้าท่านต้องการให้บุคคลใด กระทำบางอย่างดีขึ้นกว่าเก่า จงแสร้งทำเหมือนหนึ่งว่า เขามีคุณสมบัตินั้นอยู่แล้ว
- ถ้าท่านต้องการให้ใครก็ตามเป็นคนดีขึ้น จงอุปโหลกให้เขาเป็นคนดี ซึ่งเขาจะพยายามอย่างสุดกำลังที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพูด ของท่าน ยิ่งกว่าจะทำให้ท่านได้พบเห็นความไม่ดีของเขา
- ถ้าท่านต้องการจะติดต่อกับคนขี้ฉ้อคดโกง มีทางเหมาะสมอยู่ทางเดียวเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงให้เขาทำตนเป็นคนดี คือ ปฏิบัติต่อเขา ประหนึ่งเขาเป็นสุภาพชนผู้มีเกียรติ จงทึกทักเอาว่า เขาเป็นคนอยู่ในระดับปกติธรรมดาเหมือนมนุษย์อื่น ทั้งหลาย การปฏิบัติต่อเขาเช่นนี้ ซึ่งเขาจะแสดงกิริยาตอบโดยทำตนให้เป็นไปตามที่เขาได้รับการยกย่อง และเขาจะรู้สึกภูมิใจที่มีผู้ไว้วางใจเขา
จงอุปโหลกผู้อื่นในสิ่งดีงาม เพื่อเขาจะได้เป็นไปตามนั้น

บทที่ 8 จงทำให้ความผิดเป็นของง่ายที่จะแก้ไข
- การบอก เด็ก สามี ภรรยา เสมียนพนักงานว่าเขาโง่ หรือทึ่มในสิ่งโน้นสิ่งนี้ หรือเขาไม่มีพรสวรรค์ในงานนั้นๆ และที่เขาทำไปแล้วล้วนแต่ผิด แปลว่าท่านได้ทำลายโดยสิ้นเชิงต่อสิ่งที่กระตุ้นให้เขามีความพากเพียร เพื่อทำสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น ท่านควรใช้เทคนิคตรงข้าม ท่านจงมี ใจกว้าง ด้วยการให้ความสนับสนุน กำลังใจแก่เขา ท่านจงกระทำในสิ่งที่จะส่งเสริมให้เขา เห็นว่าเป็นของง่ายในการปฏิบัติสิ่งนั้นๆ ท่านจง แสดงตนให้เขารู้สึกว่าท่านเลื่อมใสในความสามารถของเขา ความสามารถ ซึ่งเขามีแวว แต่เขายังไม่ได้นำออกมาใช้ ผลก็คือ เขาจะพยายาม ปฏิบัติสิ่งนั้นๆ เพื่อเอาชนะมัน แม้ต้องใช้เวลาตลอดคืนก็ตาม
จงใช้การสนับสนุนกำลังใจ จงทำให้ความผิดซึ่งท่านต้องการแก้ไข ดูเป็นของง่ายที่จะแก้ไข จงทำให้สิ่งที่ท่านต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติ เป็นของง่ายที่จะปฏิบัติ

บทที่ 9 จงทำให้ผู้อื่นปฏิบัติตามที่ท่านต้องการ
- หลักสำคัญแห่งมนุษยสัมพันธ์ : จงทำให้ผู้อื่นมีความสุขที่จะกระทำในสิ่งที่ท่านเสนอแนะแขา
- มีชายคนหนึ่งสามารถปฏิเสธคำเชิญให้เป็นผู้พูดในงานต่างๆ คำเชิญซึ่งมาจากมิตรสหายของเขา คำเชิญซึ่งมาจากบุคคลที่เขารู้สึกใน บุญคุณ แม้กระนั้นเขาสามารถทำให้ผู้ที่ถูกเขาปฏิเสธได้รับความพอใจในการปฏิเสธนั้น เขาทำอย่างไรหรือท่าน? เขามิได้กล่าวแก้ตัวว่าเขา มีธุระยุ่ง หรือมีเหตุติดข้องอย่างนั้นอย่างนี้ เขามิได้ทำเช่นนั้น เขาทำดังนี้
คือ หลังจากแสดงความยินดีที่ได้รับเชิญ และแสดงความเสียใจที่ เขาไม่มีความสามารถพอในการปฏิบัติตามตามคำเชิญนั้น เขาจะเสนอชื่อผู้อื่นให้พูดแทนเขา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เขามิได้ทำให้ผู้เชิญเกิด ความรู้สึกเสียใจต่อคำปฏิเสธของเขาเลย แม้แต่ขณะเดียว เขาทำให้ผู้เชิญคิดถึงอีกคนหนึ่ง เพื่อเชิญมาเป็นผู้พูดในทันทีทันใด โดยเน้นความ น่าสนใจของบุคคลอื่น
- เทคนิคแห่งการให้อำนาจและตำแหน่ง ได้ปรากฎผลดีแก่นโปเลียนมาแล้ว
จงทำให้ผู้อื่นมีความสุขที่จะกระทำในสิ่งที่ท่านเสนอแนะแก่เขา


ตอนที่ 5 จดหมายซึ่งบันดาลผลมหัศจรรย์
- ใช้ "หลักจิตวิทยา" : "โปรดช่วยเหลือผม" จงทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความรู้สึกเป็นคนสำคัญ และเป็นการสร้างมิตรภาพขึ้น
- โปรดจำไว้ว่า เราทั้งหลายต่างกระหายที่จะได้รับความยกย่องนับถือ และความเป็นคนสำคัญ ซึ่งเราจะยินดีทำเกือบทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งนี้ แต่ไม่มีใครต้องการความไม่สุจริตใจ ไม่มีใครต้องการคำพูดประจบสอพลอ
ข้าพเจ้าขอย้ำ :- หลักการทั้งหลายที่สอนในหนังสือเล่มนี้ จะปฏิบัติได้ผล ก็ต่อเมื่อนำออกใช้ด้วยน้ำใส
ใจจริง ข้าพเจ้ามิได้สนับสนุนให้ ปฏิบัติด้วยการใช้เล่ห์เหลี่ยมอย่างใดทั้งสิ้น สิ่งที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ล้วนแล้วแต่ เป็นวิธีที่จะนำท่านไปสู่วิถีชีวิตแบบใหม่


ตอนที่ 6 วิธีปฏิบัติ 7 ประการ เพื่อทำให้ชีวิตในครอบครัวของท่านมีความสุขยิ่งขึ้น

บทที่ 1 วิธีขุดหลุมฝังศพการแต่งงานของท่านอย่างแน่นอนและรวดเร็วที่สุด
- สิ่งทั้งหลายที่สามารถทำลายความรักให้แหลกลาญอย่างแน่นอน ซึ่งเจ้าผีร้ายในนรกได้ประดิษฐขึ้น "ความจู้จี้เอาเรื่อง" เป็นสิ่งควรจะพึง กลัวอย่างที่สุด มันไม่เคยล้มเหลวทำนองเดียวกับการกัดของงูเห่า มันจะทำลาย ทำให้ถึงตายเสมอ
ถ้าท่านต้องการรักษาชีวิตทางบ้านให้มีความสุข กฎข้อที่ 1 มีดังนี้
อย่าเป็นคนจู้จี้ขี้เอาเรื่อง ขี้หึง

บทที่ 2 ความรักอันวัฒนาถาวร
- สิ่งแรกที่จะศึกษาในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น ก็คือ อย่าแทรกแซงกับการหาความสุขในวิธีแปลกๆของเขา
- ความสำเร็จในการแต่งงาน เป็นเรื่องที่ไม่เพียงแต่การแสวงหาคู่ที่เหมาะสมเท่านั้น หากผู้ที่จะเป็นคู่แต่งงาน จะต้องเป็นคนที่เหมาะสมด้วย
- ถ้าท่านต้องการให้ชีวิตในครอบครัวของท่านมีความสุขยิ่งขึ้น กฎที่ 2 มีดังนี้
อย่าพยายามเป็นเจ้าหัวใจคู่แต่งงานของท่าน

บทที่ 3 ถ้าท่านทำเช่นนี้ ท่านจะต้องคอยดูกำหนดเวลาเพื่อไปสู่การหย่าร้าง
- ทางไปสู่การหย่าร้าง ก็คือ "การตำหนิติเตียน" การติเตียนอันไร้ประโยชน์ และการติเตียนซึ่งเป็นที่ร้าวรานใจ
ถ้าท่านต้องการให้ชีวิตในครอบครัวของท่านมีความสุข กฎที่ 3 มีดังนี้
อย่าตำหนิติเตียน

บทที่ 4 ทางที่จะเกิดผลอย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้ทุกคนมีความสุข
จงให้คำยกย่องสรรเสริญด้วยความสุจริตใจ

บทที่ 5 สิ่งที่มีค่าสูงยิ่งสำหรับผู้หญิง
- ไม่ใช่ความรักดอกที่ทำให้วันเวลาของฉันทุกข์ทรมาน แต่มันมาจากความร้าวรานในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ
- "ข้าพเจ้าจะผ่านมาทางนี้เพียงครั้งเดียว เพราะฉะนั้น สิ่งใดอันเป็นความดี ซึ่งข้าพเจ้าสามารถจะปฏิบัติได้ หรือสิ่งใดอันเป็นความกรุณา ซึ่งข้าพเจ้าสามารถจะให้แก่มนุษย์คนใดได้ ขอให้ข้าพเจ้าทำเสียแต่บัดนี้ ขออย่าให้ข้าพเจ้า
รีรอช้า หรือเพิกเฉย เพราะข้าพเจ้าจะไม่ผ่านมา ทางนี้อีกแล้ว"
กฎข้อที่ 5 มีดังนี้ "จงเอาใจใส่ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ"

บทที่ 6 ถ้าท่านต้องการมีความสุข จงอย่าละเลยสิ่งนี้
จงมีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนโยน

บทที่ 7 อย่าเป็นคน "ไร้การศึกษาในการแต่งงาน"
- ความล้มเหลวในการแต่งงาน มักจะเนื่องมาจากสาเหตุ 4 ประการ คือ
1. มิได้ปรับปรุงกามารมณ์ให้เป็นที่พอใจต่อกัน
2. ความคิดเห็นขัดแย้งกันในการใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจ
3. การเงินฝืดเคือง
4. จิตใจ ร่างกาย หรืออารมณ์ผิดปกติ
จงอ่านหนังสือดีๆ เกี่ยวกับกามารมณ์ในการแต่งงาน

วิธีปฏิบัติ 6 ประการ เพื่อทำให้ผู้อื่นชอบท่าน

วิธีปฏิบัติ 6 ประการ เพื่อทำให้ผู้อื่นชอบท่าน

จงปฏิบัติตามนี้ แล้วจะมีผู้ต้อนรับท่านทุกหนทุกแห่ง
  1. การผูกมิตรกับผู้อื่นจะสำเร็จเรียบร้อยภายในเวลา 2 เดือน ด้วยการเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อเขาผู้นั้น ซึ่งจะได้ผลยิ่งกว่าการผูกมิตรซึ่งใช้ เวลาถึง 2 ปี แต่ด้วยความพยายามให้เขาผู้นั้นเอาใจใส่ต่อเรา
  2. บุคคลใดที่ละเว้นการเอาใจใส่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่เพียงแต่เขาจะดำรงชีวิตอยู่โดยปราศจากความราบรื่น หากเขาจะเป็นมนุษย์ที่มี อันตรายอย่างใหญ่หลวงแก่ผู้อื่นด้วย มนุษย์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ห่างไกลจากความก้าวหน้า และความรุ่งเรืองในประการทั้งปวง
  3. ฉะนั้นจงเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อผู้อื่น ขอเน้น จงเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อผู้อื่น ถ้าท่านต้องการให้ผู้อื่นชอบท่าน
วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้ผู้อื่นติดเนื้อต้องใจเมื่อแรกพบ
  1. ท่านไม่มีความรู้สึกที่จะยิ้มเลยหรือ? เมื่อเช่นนั้นจะทำอย่างไรดี? มีอยู่ 2 ประการ ประการแรกจงบังคับตัวท่านให้ยิ้มจนได้ ถ้าท่านอยู่ คนเดียว จงบังคับตัวของท่านให้ผิวปาก หรือทำเสียงหึ่มๆเป็นทำนองเพลง หรือร้องเพลง ท่านจงทำกิริยาท่าทางเหมือนหนึ่งท่านกำลังมีความสุข และในที่สุด จะโน้มความรู้สึกของท่านให้มีความสุขจริงๆ
  2. ความสุขมิได้อยู่ที่สิ่งแวดล้อมภายนอก แต่อยู่ที่สิ่งแวดล้อมภายในต่างหาก
    - ไม่ใช่เพราะสิ่งที่ท่านมี หรือท่านอยู่ในฐานะใด หรือท่านอยู่ที่ไหน หรือท่านกำลังกระทำสิ่งใดที่ช่วยให้ท่านมีความสุข หรือปราศจาก ความสุข มันอยู่ที่ท่านคิดถึงสิ่งเหล่านั้นต่างหาก คนส่วนมากมีความสุขมากน้อยเพียงใด แล้วแต่จะทำใจให้รู้สึกเช่นนั้น
  3. "ท่านจะไม่ยอมเสียเวลาแม้แต่นาทีเดียวคิดถึงศัตรูของท่าน จงพยายามตั้งใจให้แน่วแน่ มั่นคงในสิ่งที่ท่านปรารถนาจะกระทำ ครั้นแล้ว โดยปราศจากการลังเลหันเห ท่านจงมุ่งตรงไปสู่จุดหมายนั้น จงทำใจของท่านให้จดจ่ออยู่เสมอว่า ความปรารถนาของท่านเพื่อกระทำสิ่งใดๆ จะประสบผลอันงามเลิศ แล้วท่านจะพบว่าขณะวันและเวลาล่วงไป โอกาสจะเปิด ให้ท่านประสบความสำเร็จตามความปรารถนาโดยไม่รู้ตัว"
  4. จงสร้างมโนภาพของท่าน ถึงบุคคลที่มีสมรรถภาพสูง เข้มแข็งเอาการเอางาน ซึ่งท่านประสงค์จะเป็นเช่นนั้นบ้าง และจากความนึกคิด ทุกๆชั่วโมงอันนี้เอง สามารถเปลี่ยนแปลงท่านให้เป็นบุคคลที่มีความเด่นเป็นพิเศษ..... ความคิด เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด จงดำรง รักษาจิตใจ แนวจิตไว้ให้อยู่ในท่าทีถูกต้องดีงาม ท่าทีแห่งความกล้าหาญบึกบึน แห่งความเป็นคนเปิดเผยตรงไปตรงมา และร่าเริงแจ่มใส ความคิดอันถูกต้องดีงามจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ ความสำเร็จสมดังปรารถนามาจากความตั้งใจจริง เราจะเป็นอย่างไร แล้วแต่ใจเราคิด
  5. มีภาษิตของจีนกล่าวไว้ว่า คนที่ใบหน้าไม่ยิ้ม อย่าเปิดร้านค้าขาย
    ฉะนั้น วิธีง่ายๆ ที่ทำให้ผู้อื่นติดใจเมื่อแรกพบ ก็คือ "ยิ้ม"
ถ้าท่านไม่ทำตามนี้ ท่านจะบ่ายหน้าไปพบความยุ่งยาก
  1. การให้เกียรติโดยการตั้งชื่อ
  2. พยายามจดจำชื่อบุคคลที่เราพบปะให้ได้มากที่สุด
  3. จงจำไว้ว่า ชื่อของบุคคลใดก็ตาม สำหรับบุคคลนั้น เป็น สำเนียงหวานที่สุด และสำคัญที่สุด ในภาษามนุษย์
หนทางง่ายๆ ที่จะเป็นนักสนทนาที่ดี
  1. ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ สนใจอย่างแท้จริง ไม่มีสิ่งใดอีกแล้วที่จะเป็นการแสดงความคารวะยิ่งไปกว่านี้
  2. มีบุคคลอยู่เป็นอันมาก ประสบความล้มเหลวที่จะเป็นผู้ได้รับความนิยม เนื่องจากไม่ฟังผู้อื่นอย่างตั้งอกตั้งใจ
  3. ความสามารถเป็นนักฟังที่ดีของมนุษย์เป็นสิ่งหายาก เกือบจะยิ่งกว่านิสัยดีๆอื่นๆทั้งหลาย
  4. จงตั้งคำถามในเรื่องที่อีกฝ่ายหนึ่งจะตอบด้วยความยินดี สนับสนุนให้ผู้อื่นสนทนาถึงเรื่องของเขา และความสำเร็จของเขา
  5. โปรดจำไว้เสมอว่า บุคคลที่ท่านสนทนาด้วย เป็นผู้สนใจตัวของเขาเอง ความต้องการของเขา และปัญหาของเขา ยิ่งกว่าจะสนใจในตัวท่าน และปัญหาของท่านตั้งร้อยเท่า
    จงเป็นนักฟังที่ดี จงสนับสนุนให้อีกฝ่ายหนึ่งคุยถึงเรื่องของเขา
วิธีทำให้ผู้อื่นสนใจ
  1. ค้นหาความจริงว่าเขาสนใจในสิ่งใด และเขามีความสุขในการสนทนาถึงสิ่งใด
    สนทนาในเรื่องที่อีกฝ่ายหนึ่งสนใจ
วิธีทำให้ผู้อื่นชอบท่านในทันที
  1. จงทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกเป็นคนสำคัญ
  2. จงปฏิบัติต่อผู้อื่น เช่นเดียวกับที่ท่านต้องการจะให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน
  3. คำพูดสั้นๆ เช่น "เสียใจมากที่ต้องรบกวน" , "โปรด", "กรุณา", "ขอบคุณ" ความสุภาพอ่อนโยนเพียงเล็กน้อยจะช่วยปลอบใจอีกฝ่ายหนึ่งให้หายจากความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียจากงานประจำวัน
    จงทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกเป็นคนสำคัญ และ จงทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ
การสร้างความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ในการปฏิบัติงานนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย และสำหรับหน้านี้เรามีเคล็ดลับ 6 ประการ ที่จะช่วยให้คุณ เป็นที่ชื่นชอบของบุคคลอื่น ๆ มาฝาก

1. การสนใจในตัวบุคคลอื่น
มีคำกล่าวไว้ว่าถ้าเรามีความสนใจในตัวบุคคลอื่นแล้วเราอาจจะหาเพื่อนใหม่ ได้ภายใน 2 เดือน แต่ถ้าหากเราจะหาเพื่อนใหม่ โดยการจูงใจให้เขามาสนใจในตัวเรา อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี เราจะสังเกตได้ว่าบุคคลผู้เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีความสนใจในตัวบุคคลอื่น ดังนั้นถ้าเราอยากเป็นที่รักใคร่ของผู้อื่น จึงต้องรู้จักแสดงความสนใจในตัวบุคคลอื่นอาจจะโดยการไต่ถามสารทุกข์สุขดิบ ส่งการ์ดอวยพรหรือของขวัญให้เขาในวันเกิด หรือเทศกาลสำคัญๆ ส่งบทความ การ์ตูน หรือสิ่งอื่น ๆ ที่คิดว่าน่าสนใจให้แก่เพื่อนร่วมงาน สมาชิกในทีมงานโดยอาจจะส่งทาง E-mail ก็ได้และเมื่อเพื่อนร่วมงานมีปัญหาก็ควรเสนอตนเองช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ

2. การยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ
บุคคลที่จะเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นมาที่สุด และนานที่สุดก็คือ บุคคลที่มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ เมื่อเราพบปะกับบุคคลเช่นนี้เราจะรู้สึกว่าเกิดความรัก ความนับถือขึ้นมาทันที ทั้งๆ ที่เราอาจจะยังไม่เคยรู้จักเขามาก่อนเลยก็ตามและจะสังเกตได้ว่าหัวหน้าที่มี ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มีผลต่อจิตใจของผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างประหลาด ใบหน้าที่ยิ้มแย้มจะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความเกรงใจ ความกระตือรือร้นและความขยันขันแข็งมาเองโดยมิต้องใช้อำนาจบังคับแต่อย่างใด แต่การยิ้มในที่นี้ก็ต้องเป็นการยิ้มอย่างเต็มอกเต็มใจ ยิ้มอย่างเปิดเผย มิใช่แสร้งยิ้มชั่วครั้ง ชั่วคราวเพื่อหาประโยชน์ เพราะการยิ้มเช่นนั้นจะไม่ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นเลย

3. การจำชื่อบุคคลต่าง ๆ
คนเราย่อมสนใจและพึงพอใจในชื่อของตนเองมากกว่าชื่อใด ๆ ในโลก ดังนั้นการการที่เราสามารถจำชื่อบุคคลอื่นได้ และสามารถเรียกชื่อเขาได้ อย่างถูกต้องจะทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจและคิดว่าเราระลึกถึงความสำคัญของ เขาอยู่เสมอเขาจะเกิดความพอใจ และจดจำเราได้ตลอดไปเช่นเดียวกัน

4. การเป็นผู้ฟังที่ดี
บุคคลที่เราสนทนาด้วยนั้นย่อมสนใจในตัวของเขาและความต้องการของเขา ดังนั้นถ้าเราปรารถนาจะเป็นที่รักใคร่ของบคุคลอื่นก็จะต้องรู้จักเป็นผู้ฟัง ที่ดีด้วยการสนใจในเรื่องที่บุคคลอื่น พูดไม่พูดขัดคอขึ้นมา ในขณะที่คู่สนทนายังพูดไม่จบพยายามจูงใจ ให้เขาสนทนาในเรื่องที่เขาสบายใจและควรสนับสนุนหรือชมเชยคู่สนทนาเป็นครั้งคราว

5. การพูดในเรื่องที่ผู้ฟังสนใจ
เดล คาร์เนกี้ เคยกล่าวไว้ว่าถ้าเราปรารถนาจะสร้างความนิยมขึ้นในตัวเองแล้วจงสนทนาแต่ในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคู่สนทนา ดังนั้นเมื่องเราต้องการเป็นที่รักใคร่ชอบพอของบุคคลอื่นเราก็ต้องรู้ว่าคู่ สนทนาของเรา สนใจในเรื่องอะไรและต้องพยายามแสวงหาข้อมูลจากที่ต่าง ๆ แต่ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องรู้ข้อมูลทุกอย่างทั้งหมด ในบางเรื่องเรารู้เพียงแต่จะกล่าวนำหรือคอยรับฟังก็เพียงพอแล้ว

6. การรู้จักยกย่องบุคคลอื่น
นักจิตวิทยาหลายท่านกล่าวไว้ว่าความปรารถนาอันแรงกล้าอย่างหนึ่งของ มนุษย์ ก็คือความปรารถนาที่จะได้รับคำสรรเสริญ คนเราต้องการได้รับคำยกย่องจากผู้ที่เราติดต่อด้วย ต้องการให้ผู้อื่นรู้ว่าเรามีความสำคัญ และต้องการให้เพื่อนของเรายกย่องสรรเสริญเราอย่างเต็มอกเต็มใจ และชมเชยเราในทุกโอกาสที่จะทำได้ ดังนั้นเมื่อเราปรารถนาจะเป็นที่ชอบพอของบุคคลอื่น เราก็ต้องปฏิบัติต่อคนอื่น เช่นเดียวกับที่เราต้องการให้คนอื่นปฏิบัติต่อเรา นั่นก็คือการระลึกถึงความสำคัญของผู้อื่นในทุกโอกาส
การทำงานทุกอย่างย่อมมีอุปสรรคทั้งสิ้น แต่ถ้าหากว่าพวกเราทุกคนรู้จักสร้างความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ในการปฏิบัติงาน และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แล้ว เราก็จะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วิธีการที่ทำให้ผู้อื่นชื่นชอบด้วยความจริงใจ
  1. เอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อผู้อื่น 
    • อะไรที่เขาชอบ / ไม่ชอบ
    • จะช่วยให้เขาได้สิ่งที่เขาต้องการได้อย่างไร โดยที่เราไม่เดือดร้อน
    • ปัญหาของเขาคืออะไร จะช่วยเขาปัญหาของเขาได้อย่างไรโดยเราไม่เดือดร้อน
  2. ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ ในทุกสถานการณ์อย่างพอเหมาะพอควร
    • มองตาที่พูดด้วย มองด้วยจิตใจที่แจ่มใสเบิกบานตามสถานการณ์
    • อย่าเสียเวลาคิดถึงเรื่องไม่สบายใจ หรือ คนที่ไม่ชอบ
  3. จำชื่อของบุคคลที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องให้ได้
    • ชื่อ นามสกุล ครอบครัว / เรียนหนังสือ
    • ที่ทำงาน
    • แนวคิดทางการเมือง
  4. เป็นนักฟังที่ดี สนับสนุนให้เขาพูด-คุยเรื่องที่เขาชอบ
    • ถามเขาเป็นระยะๆ ขณะฟัง ถ้าไม่เห็นด้วย (ถ้าทำอย่างนี้ผลจะเป็นอย่างไร)
    • อย่าขัดคอ อย่าด่วนใช้หลักการมันอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้
    • ให้ความเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างทางความเห็น
    • คนส่วนมากมักจะพูดสิ่งที่เป็นปัญหาของเขา ความต้องการของเขา
  5. ถ้าจำเป็นต้องพูด ให้พูดเรื่องที่เขาสนใจ
    • สิ่งมีค่าสูงสุด ภูมิใจสูงสุด ของเขาคือใคร อะไร พยายามคุยเรื่องนั้น
    • หลีกเลี่ยงเรื่องที่ต้องโต้แย้งกัน แสวงจุดร่วม สงวนจุดด่าง
  6. การให้เขาเกิดความรู้สึกว่าเขามีความสำคัญในสิ่งที่เขาทำ และต้องชมด้วยจริงใจ
    • ใจเขา ใจเรา , ชอบ/ไม่ชอบ , อย่าทำ ,อกเขา อกเรา
    • หลายคนเชื่อว่า เขามีอะไรมากกว่าเหนือกว่า ดีกว่า ผู้อื่น ชวนคุยสิ่งนั้น
    • ชื่นชม ความสามรถของผู้อื่นอย่างจริงใจ

วิธีจูงใจผู้อื่นให้คล้อยตามความคิดของเรา

วิธีจูงใจผู้อื่นให้คล้อยตามความคิดของเรา

  1. อย่าโต้แย้ง หรือ โต้เถียง โดยเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆก็ตาม
    • ถ้าไม่มีหน้าที่ อย่าไปพิสูจน์ว่าผู้อื่นผิด
    • หลังการโต้เถียงต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่าตนถูกมากกว่าเดิม และจะรู้สึกเสียหน้าถ้าต้องเปลี่ยนความคิดเห็น
    • คนโดยทั่วไปจะไม่เปลี่ยนทัศนคติต่อเรื่องใดๆ ถ้าเขาต้องเชื่อเพราะถูกบังคับให้เชื่อในเรื่องที่เขาไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่แรก
    • การโต้แย้ง เปลี่ยนใจมนุษย์ไม่ได้
    • มิตรภาพ/ความรู้สึกที่ดี จะไม่มีวันเกิดขึ้นหลังการโต้เถียง
  2. เคารพความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม อย่าบอกว่าเค้าผิด
    • ถ้าต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากเขา อย่าบอกให้เขารู้ตัวล่วงหน้า เช่น
      อย่าพูด " ผมจะพิสูจน์ให้คุณเห็นว่า สิ่งที่คุณพูดไม่ได้เรื่องหรือผิด" ควรพูด" เรื่องนี้ผมคิดอย่างนี้ ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ 
    • นักวิทยาศาสตร์ จะไม่พยายามพิสูจน์สิ่งใดๆ เพียงแต่หาข้อเท็จจริงมาเผยแพร่เท่านั้น
    • ไม่มีมนุษย์คนใดชอบฟังความจริง ที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาด หรือ ความล้มเหลวของเขา
  3. ถ้าทำผิด ให้รีบผิดทันที โดยไม่มีข้อโต้แย้ง+เตรียมใจ รีบตำหนิตัวเองอย่าแก้ตัว จะทำให้ลดแรงกดดันจากฝ่ายตรงข้ามได้มาก
  4. เริ่มต้นสนทนาด้วยมิตรไมตรีที่ดี
    • ถ้าเขายังโกรธเราอยู่ ไม่ว่าเราจะพูดอะไร เขาจะไม่เชื่อ ไม่ฟัง
    • แสดงให้เขาเห็นว่า เรามีเจตนาที่ดีต่อเขา ต้องการช่วยเขา ด้วยใจจริง
    • ปรึกษาหารือกันว่า ทำไมเราจึงเห็นขัดแย้งกัน ประเด็นปัญหาคืออะไร
  5. ทำให้ฝ่ายตรงข้ามยอมรับ คำว่า ใช่ ,ถูก, ครับ ในทันทีที่เริ่มสนทนา
    • เทคนิคของ Socrates
    • เลือกเรื่องง่ายๆที่เป็นความจริงของเรื่องที่จะสนทนาที่จะพูดก่อน
  6. พูดให้น้อย ฟังให้มาก 
    • ในบางกรณี การฟังจะได้ประโยชน์มากกว่า สร้างศัตรูได้น้อยกว่าการพูด
    • ผู้ประสบความสําเร็จส่วนมากชอบระลึกถึงการต่อสู้ดิ้นรนในอดีต
    • ไม่มีใครอยากฟังเราโม้ถึงความสำเร็จของเรา ควรถ่อมตนจะดีกว่า
  7. ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าความคิดที่เราเสนอ แท้ที่จริงเป็นความคิดของเขา แต่ลืมไป หรือ เป็นความคิดของเราแต่ให้เขาพิจารณาใคร่ครวญตัดสินใจเอง
    • ไม่มีใครมีความสุขที่ต้องทำอะไรเพราะความคิดของคนอื่น ถูกสั่งให้ทำ
    • คนทั่วไปชอบที่จะให้คนอื่นมาพูดกับเขาว่า เขาต้องการอะไร คิดอย่างไร
    • พยายามพูดย้ำโดยไม่ตั้งใจ เพื่อให้สิ่งที่พูดฝังอยู่ในใจของเขา เผื่อที่เขาจะได้นำมันมาคิดแล้วคิดอีกแล้วตัดสินใจตามเรา
  8. พยายามอย่างสุจริตใจที่จะมองสิ่งต่างๆในแง่คิดของเขา
    • คนฉลาด อดทน มีคุณสมบัติพิเศษ มีความเป็นผู้นำ เท่านั้นจึงจะทำได้
    • ลองถามตัวเองว่า ถ้าเราตกอยู่ในฐานะเดียวกับเขา เราจะรู้สึกอย่างไร และจะแก้ปัญหาต่างๆอย่างไร
    • ผลสำเร็จอันงดงามในการติดต่อกับผู้อื่น อาศัยหลักการของความเข้าใจแง่คิดของเขาอย่างทะลุปรุโปร่ง
    • ลองถามตัวเองว่า ทำไมเขาจึงทำอย่างนั้น ทำเพื่ออะไร มีอะไรเป็นมูลเหตุจูงใจซ่อนอยู่ภายใน
  9. เห็นใจในความรู้สึกนึกคิด ความต้องการ ขีดจำกัด ของเขา
    • แผ่เมตตา ให้อภัย ไม่อาฆาต
    • เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
  10. ขอร้องด้วยการพูดด้วยเหตุผลว่า สิ่งที่เราเสนอดีกว่าของเขา แต่ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เขาเสนอไม่ดี
    • ถ้าเราไม่มั่นใจว่า เขาเป็นคนอย่างไร ต้องสันนิฐานไว้ก่อนว่า เขาเป็นคนมีเกียรติ์ ซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติต่อเขาด้วยดี
    • ทุกคนตีราคาคุณค่าของตัวเขาเองทุกคน
    • ปล่อยให้เขาคิดและเปรียบเทียบ ตัดสินใจดำเนินการเลือกเอง
    • คนแต่ละคนมีนิสัยต่างกัน ได้รับการอบรบสั่งสอน มีประสบการณ์ชีวิตแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีวิธีการจัดการไม่เหมือนกัน
  11. แสดงความคิดเห็นให้เป็นที่เร้าใจ มีพลัง และด้วยความกระตือรือร้น
    • ใช้ถ้อยคำสุภาพ
    • ยิ้มแย้มแจ่มใสขณะพูด
    • ต้องเชื่อมั่นเต็มที่ว่า สิ่งที่เสนอนั้นสามารถปฏิบัติได้/ดีกว่าของเดิมจริง
  12. หรือ ลองใช้วิธีการพูดท้าทายดูบ้าง เช่น
    • สิ่งนี้เราเสนอนี้ คนที่เก่ง หรือ คนที่มีความสามารถเท่านั้นที่ทำได้ เราผู้เสนอมีเพียงความคิด แต่ไม่มีความสามารถ หรือ มีความชำนาญมากพอที่จะทำได้
    • สิ่งที่จะทํานี้ไม่ง่าย แต่จากสิ่งที่ผ่านมาผมคิดว่าไม่เกินความสามารถของทุกคน
    • สิ่งนี้คุณทำได้อยู่แล้ว ถ้าอยากจะทำ
    • ผมไม่ตำหนิคุณหรอกที่คุณรู้สึกกลัว เพราะสิ่งนี้มันยาก ต้องใช้ความสามารถและความอดทนมาก คนเก่งๆเท่านั้นที่จะทําได้

การปรับปรุงตนเองเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์

การปรับปรุงตนเองเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์

แนวทางในการปรับปรุงตนเองเพื่อให้เกิดความราบรื่นใรการสร้างความสัมพันธ์ กับบุคคลทั่วไปนั้น ได้มีผู้ให้ทัศนะไว้หลากหลาย ดังจะได้นำเสนอให้เลือกพิจารณา ใช้เป็นแนวคิดดังต่อไปนี้

โรเบิร์ต คอลคลิน (Robert conclin) ได้เสนอความคิดในการปรับปรุงตนเองไว้ดังนี้ ("พลวัต" 2531:1)
1. ให้สิ่งที่คนอื่นอยากได้
2. เปลี่ยนแปลงตัวคุณเองก่อน
3. สร้างความประทับใจกับความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์
4. จูงใจคนให้เป็น
5. จงขจัดความขัดแย้ง และความบาดหมางออกจากสัมพันธภาพ
6. สร้างความอดกลั้นและความพยายามเข้าใจผู้อื่น
7. รู้จักเป็นผู้ฟังที่ดี
8. จงมองผู้อื่นให้ถูกต้อง มองปัญหาให้ถูกจุด

วิจิต อาวะกุล (วิจิตร อาวะกุล 2526 : 64-65) ได้กล่าวถึงการปรับปรุงตนเองเพื่อ มนุษยสัมพันธ์ไว้ดังต่อไปนี้
1. ท่านต้องมีความรู้สึก อยากคบหาสมาคมเป็นมิตรกับคน ถ้ายังไม่มีต้องสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใสทักทายพูดคุยกับผู้อื่นเสียบ้าง
2. หัดมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบช่วยเหลือคนอื่นโดยที่เขาไม่ต้องขอร้อง เช่น ช่วยถือของ รับโทรศัพท์ให้เพื่อนด้วยความเห็นใจ อย่าเป็นคนใจดำ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้
3. ไม่ตระหนี่ แบ่งปันของให้กับเพื่อนแม้ของเล็ก ๆ น้อย ๆ
4. มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน หรืองานที่ทำร่วมกันกับเพื่อนให้ได้ดี
5. เลิกเป็นคนแข็งกระด้าง เพื่อความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกิดความประทับใจ และชอบพอของคนทั่วไป
6. มีความเกรงใจผู้อื่น ไม่ล่วงล้ำสิทธิของผู้อื่น เอาเปรียบเพื่อนเอาแต่ได้ มิได้นึกถึงผู้อื่นหยาบคาย ไร้มารยาท
7. หัดเป็นคนให้ความร่วมมือ ในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เฉพาะประโยชน์ส่วนตัวจึงจะทำ
8. ต้องไม่เลือกคบเลือกพูดกับคนบางคนเท่านั้น แต่ควรจะทักทายพูดคุย กับคนทั่วไป

9. หลีกเลี่ยงการโต้เถียงที่ไม่จำเป็น ถ้าเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นก็ควรปลีกตัวหนีไปเสียจะดีกว่า
10. หัดเป็นคนคิดก่อนพูด ก่อนการกระทำเสมอ
11. หัดตรงต่อเวลาในการนัดหมาย ท่านเคยผิดนัดกับใครบ้างหรือไม่ สายเป็นประจำจนคนอื่นรำคาญหรือเปล่า
12. มีความจริงใจ มีความสัตย์จริงต่อเพื่อน และมิตรสหาย อย่าเป็นคนไม่น่าไว้ใจหรือไว้ใจไม่ได้
13. ไม่รับของเพื่อฝ่ายเดียว ท่านต้องให้ตอบแทนเขาบ้างเมื่อท่านมีโอกาส และท่านต้องไม่เอาเปรียบเพื่อน คอยแต่กอบโกยผลประโยชน์จากเพื่อน
14. ไม่พูดจาหยาบคาย กระด้าง ห้วย กระโชก แต่ต้องพูดสุภาพ หัดพูดมีหางเสียงเสียบ้างกิริยาควรสุภาพเรียบร้อย
15. เป็นผู้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจการงานส่วนรวมของที่ทำงานอยู่เสมอ
16. ไม่นินทาผู้อื่น ให้ร้ายป้ายสีผู้อื่นลับหลังแต่ต่อหน้าทำดี
17. อย่าเป็นคนโหดร้าย ทารุน แต่ควรมีความกรุณาปราณี

วิทยา เทพยา (วิทยา เทพยา 2521 : 17) ได้เสนอแนวทางการปรับปรุงตนเองในด้านทั่วไป ด้านเจตคตินิสัยในการทำงาน และมารยาทในสำนักงานไว้ดังนี้

การปรับปรุงตนเองทั่ว ๆ ไป

1. ต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี
2. ต้องเป็นผู้แต่งกายเรียบร้อย เหมาะสม และสวยงาม
3. ต้องรักษาความสะอาดของร่างกาย และเครื่องแต่งกาย
4. การปรากฏตน และการวางตนให้เหมาะสม
5. การพูดจาและน้ำเสียง
6. มีความซื่อสัตว์ และภักดี
7. ความขยันหมั่นเพียร และไว้วางใจได้
8. เป็นผู้สุภาพอ่อนน้อม และมีไหวพริบ
9. การรู้จักเคารพยำเกรงผู้ที่ควรเคารพ รับฟังการติชม คำวิพากษ์วิจารณ์ และคำแนะนำจากผู้อื่น
10. ให้ความร่วมมือกับผู้อื่น
11. มีความร่วมมือกระตือรือร้น และมานะในทางดี
12. สามารถที่จะสมาคมกับบุคคลทุกประเภท
13. มีความไว้วางใจ

เจตคติอันพึงประสงค์

1. ยิ้มแย้มแจ่มใส และมีอัธยาศัยไม่ตรีที่ดี
2. ให้ความร่วมมือและไว้วางใจได้
3. มีความคิดริเริ่ม และรู้จักรับผิดชอบ
4. ทำงานได้ดีเกินคาด
5. รักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีในการปฏิบัติงาน
6. ความภักดีต่องานและต่อนายจ้าง
7. ความซื่อสัตย์
8. ความเข้าใจในแง่คิดของผู้อื่น เช่นผู้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน
9. การรู้จักฟัง

นิสัยในการทำงานอันพึงประสงค์

1. มาทำงานทันเวลา
2. ความเป็นระเบียบ และความเรียบร้อย และระมัดระวังเครื่องมือเครื่องใช้
3. ความแม่นยำ
4. ตรวจก่อนจะให้ผ่านไป
5. ทำงานให้เสร็จทันกำหนด
6. ทำงานที่ควรทำก่อน ต้องทำก่อน
7. ประหยดเวลาและวัสดุ
8. รายงาน และแก้ไขข้อผิดพลาด แทนที่จะปิดบังอำพราง
9. ถาม และตอบอย่างชัดเจน

วิธีศึกษาเพื่อให้เข้าใจผู้อื่น

การศึกษาผู้อื่นให้เกิดความพอใจ เป็นวิธีการของวิชามนุษย์สัมพันธ์ที่สำคัญประการหนึ่ง เราอาจศึกษาผู้อื่นได้จากภาษาพูด และท่าทาง โดยยึดหลักดังนี้
1. พิจารณาจากใบหน้า เช่น ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส หน้าบึ้ง หน้าแดง
2. พิจารณาจากสายตา เช่น ถ้ามองคนในระดับสายตา ถือว่าปกติ มองในระดับต่ำกว่าสายตา จ้องตา หลบตา ถือว่ามีความในใจผิดปกติ
3. พิจารณาจากบุคลิก เช่น มือสั่น หายใจแรง ผุดลุกผุดนั่ง หรือสงบ เคร่งขรึม เย็นชา การพูดด้วยเสียงปกติ หรือรีบร้อน
4. พิจารณาจากเจตนา เช่น พฤติกรรมบางอย่าง ปิดประตูเสียงดังเพราะโกรธหรือไม่ตั้งใจ พูดเสียงแข็ง เยาะเย้ยหรือล้อเล่น มาทำงานสายเพราะเบื่อหน่าย มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือเพราะไม่สบาย

วิธีปฏิบัติต่อผู้อื่น เพื่อเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์

การปฏิบัติต่อผู้อื่นเพื่อเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์นั้น ควรปฏิบัติด้วยความเข้าใจ ในลักษณะ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" และต้องศึกษาเพื่อทำควาวเข้าใจถึงธรรมชาติของความแตกต่าง ระหว่างบุคคล โรเบอร์ต เฮช. ลอสัน (Robert H> Lorson) ได้แบ่งมนุษย์ออกเป็น 5 ประเภท และได้เสนอแนะวิธีปฏิบัติกับบุคคลแต่ละประเภท ไว้ดังนี้

1. พวกดื้อรั้น เป็นพวกที่ชอบคัดค้าน ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และจะแสดงความไม่พอใจเมื่อให้ปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
วิธีปฏิบัติ - ใช้คำสั่งเชิงขอร้องก่อนที่จะใช้อำนาจสั่งให้ปฏิบัติ
- ไม่ควรพยายามชี้ให้เขายอมรับความผิด แต่ควรชี้ให้เห็นผลประโยชน์ของส่วนร่วม และความยุติธรรม
- เมื่อเขาให้ความร่วมมือในเรื่องใดเรื่องหนึ่งควรถือโอกาสชมเชยทันที
- พยายามให้กำลังใจช่วยให้เขาแสดงความสามารถเชิงปฏิบัติออกมา

2. พวกเฉื่อยชา เป็นพวกที่คิดแล้วคิดอีก และเสียเวลานานกว่าจะตัดสินใจทำอะไร
วิธีปฏิบัติ - เวลาออกคำสั่ง ควรพูดช้า ๆ ให้คำง่าย ๆ และชัดเจน อาจต้องทวนคำสั่งด้วยและให้เวลาในการปฏิบัตินานพอสมควร
- ต้องทำให้เขารู้สึกว่ามีความสำคัญ และได้รับความเห็นใจ
- ให้คำชมเชยยกย่องการปฏิบัติของเขาโดยเร็วเพื่อให้กำลังใจ
- แสดงท่าทีเป็นมิตร และชี้ข้อบกพร่องอย่างตรงไปตรงมา และให้เวลาพอสมควรในการปรับปรุงแก้ไข
- อธิบายเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจน และให้เขาได้ซักถามจนเข้าใจแจ่มแจ้ง และพอใจ
3. อารมณ์อ่อนไหว เป็นประเภทที่เห็นเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ ถูกกระทบไม่ได้โมโหง่ายและไม่พอใจเมื่อถูกสั่งให้ทำ
วิธีปฏิบัติ - เอาใจใส่เขาในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ความเห็นอกเห็นใจ และให้เขาได้ระบายความในใจ
- ให้คำชม หรือ คำเยินยอให้มากแล้ว จะได้รับความร่วมมือที่ดี รวมทั้งพยายามส่งเสริมจุดเด่น ชี้แจงเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงให้เขาหายสงสัย
4. พวกขลาดกลัว เป็นพวกขี้อาย ไม่ค่อยมีความคิดริเริ่ม ไม่ค่อยกล้าซักถาม และเมื่อไม่พอใจก็ไม่แสดงออก
วิธีปฏิบัติ - อธิบายทุกอย่างให้ชัดเจน และทวนคำสั่งเสมอ
- คอยสังเกตความผิดปกติเพื่อให้รู้ว่าไม่พอใจสิ่งใด และให้โอกาสเปิดเผยความในใจ
- รีบชมเชย ยกย่อง เมื่อเขาแสดงความคิดริเริ่มที่เป็นประโยชน์
- พยายามไม่เอ่ยถึงข้อบกพร่องและความผิดพลาด แต่ควรพูดจาให้เขารู้สึกสบายใจ และชี้แจงถึงการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
5. พวกกล้าแสดงออก (กล้าแข็ง) เป็นพวกที่กล้าพูด กล้าโต้เถียง ถือความคิดตนเองเป็นครั้งคราวอาจขาดความรอบคอบในการทำงานต้องตรวจสอบอยู่ เสมอ
วิธีปฏิบัติ - ใช้การขอร้องแทนการออกคำสั่ง และแสดงความเชื่อมั่นในตัวเขา แต่บางครั้งอาจขาดความรอบคอบในการทำงานต้องตรวจสอบอยู่เสมอ
- อาจต้องรับฟังเรื่องต่าง ๆ ที่เขาร้องเรียนบ่อย ๆ ควรใช้คำพูดเชิงเห็นใจแต่อย่าชมเชยพร่ำเพรื่อ ยกเว้นงานที่เด่นจริงๆ
- การชี้แจงเหตุผล และข้อเท็จจริงกันแบบตัวต่อตัวจะได้ผลดี เพราะเขาเป็นบุคคลประเภทไม่ค่อยยอมรับความจริง
- ใช้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงได้เพราะเป็นพวกที่ปรับตัวได้รวดเร็ว

กลวิธีการสร้างมนุษย์สัมพันธ์

การสร้างมนุษยสัมพันธ์ทำได้หลายวิธีและควรกระทำด้วยวิธีต่าง ๆ ทำไปพร้อม ๆ กันให้เหมาะสมกับสถานการณ์เวลาและบุคคล กลวิธีสร้างมนุษยสัมพันธ์ มีหลักการดังนี้

1. สร้างความรู้สึกที่ดีให้กับตนเอง
การสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับตนเอง เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดความคิดที่มุ่งมั่น ยินดี และเต็มใจที่จะสร้างแต่สิ่งที่ดี ๆ ให้เกิดขึ้น ความรู้สึกที่ดี ๆ ของคนเรานั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เรามีแนวคิดที่ดี เช่น แนวคิดดังต่อไปนี้
- ถ้าทำให้คนอื่นได้รับความสุข เราก็จะมีความสุขด้วย
- จงเชื่อมั่นว่าท่านทำได้ แล้วท่านจะทำได้
- เตรียมพร้อมสำหรับวันข้างหน้าทำในสิ่งที่ถูก เพราะว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
- ถ้าเราให้สิ่งทีดี ๆ กับคนอื่น เราก็จะได้รับสิ่งที่ดี ๆ เช่นกัน

2. ใช้เทคนิคการสนทนาเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์
การสนทนา คือ การติดต่อสื่อสารความหมายกับบุคคลอื่น การสนทนาที่ดีจะทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เทคนิคการสนทนาเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์มี 4 ประการ คือ
2.1 การสนทนาให้เกิดความอุ่นใจ (Rapport) แบ่งเป็น 3 ประการ คือ
1) ใช้ภาษาพูดและภาษาท่าทาง ได้แก่ การทักทาย หยอกล้อ จับแขน จับมือ แตะไหล่
2) ใช้คำพูดชมเชย เช่น ชมสิ่งของ เสื้อผ้า เครื่องประดับ บ้าน รถยนต์
3) ใช้คำพูดถามถึงครอบครัว เช่น ถามทุกข์สุข ลูกหลาน พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย
การสนทนาให้เกิดความอบอุ่นใจ ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้น ที่สำคัญจะต้องใช้สายตาที่แสดงถึงความสนใจและจริงใจประกอบไปด้วยเสมอ

2.2 การใช้คำถาม (Asking skill)
การใช้คำถามเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาเพื่อเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ หลักการใช้คำถาม มีดังนี้
1) ถามถึงความสามารถที่เป็นจุดเด่น หรือความสำเร็จของเขา เช่น เรื่องการเล่นกีฬา การประกอบอาชีพ
2) ถามถึงเรื่องที่น่าสนใจ กำลังเป็นข่าวอยู่ในเวลานั้น เช่น ข่าวการขึ้นการฉลองปีใหม่ ข่าวการเมือง
3) ถามทุกสุขเพื่อให้เขาได้ระบายหรือเล่าเรื่องต่าง ๆ คำถามในข้อนี้ ใช้สำหรับคนที่สนิทสนมกันจริง ๆ เท่านั้น
2.3 การฟัง (Listening Skill)
หลักการฟังที่ดีมีดังนี้
1) เงียบ เพื่อให้ผู้พูดได้พูดเต็มที่
2) ผงกศรีษะ เพื่อให้รู้ว่าเราสนใจ และตั้งใจฟัง
3) เปล่งเสียงรับ เช่น ฮือ, หือ, อ๋อ, อ้อ
4) ตอบรับ เช่น ใช่… ค่ะ, ครับ, ต่อไป
5) แสดงสีหน้าท่าทางประกอบ เช่น หัวเราะ ยิ้ม ทำหน้าเศร้าแสดงแววตาฉงนสนเท่ห์
2.4 การทวนคำพูด (Restatement)
การทวนคำพูดเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีในการสนทนา ช่วยให้ผู้พูดรู้ว่าเราสนใจฟังเรื่องที่เขาพูดมาโดยตลอด หลักการทวนคำพูด มีดังนี้
1) ทวนคำพูดทุกคำ แต่เปลี่ยนสรรพนาม เช่น เขาพูดว่า "ผมอยากไปพักผ่อนสักระยะ" จะทวนว่า "คุณอยากไปพักผ่อนสักระยะใช่ไหม
2) ทวนคำพูดท้ายประโยค เช่น เขาพูดว่า "ผมกลุ้มใจเรื่องเพื่อนในที่ทำงาน" จะทวนว่า "เพื่อนในที่ทำงาน" หรือ "เพื่อนเหรอ"
การทวนคำพูดทั้ง 2 แบบ จะต้องรู้จักเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสม อย่าใช้พร่ำเพรื่อ เพราะจะทำให้ถูกมองว่าเป็นคนพูดซ้ำ พูดตาม หรือ ล้อเลียนผู้อื่น

3. ใช้หลักการสนทนาเพื่อช่วยเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์
การสนทนา ที่ทำให้คู่สนทนาเกิดความรู้สึกที่ดี สบายใจ สนุกสนาน และพอใจที่จะสนทนากับเรา ควรยึดหลักดังต่อไปนี้
1.1 แสดงสีหน้าท่าทาง การยิ้ม การทักทาย เพื่อสื่อความหมายว่าเป็นมิตร
1.2 ให้ความสนใจกับเรื่องที่กำลังสนทนาด้วยความจริงใจ
1.3 ทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ขัดจังหวะ ไม่ขัดคอ และไม่ทำท่าทางเหมือนซุบซิบนินทา
1.4 แสดงความรู้ของตนเองบ้าง แต่ระวังอย่าให้กลายเป็นการอวดรู้ จะทำให้ผู้ฟังกระอักกระอ่วนใจ หรือความหมั่นไส้
1.5 ไม่ทำตัวเป็นคนเจ้าปัญหา ถามปัญหาสารพัน หรือถามแบบสอดรู้จนคู่สนทนเกิดความรำคาญ
1.6 ไม่ควรเจาะจงสนทนากับใครคนหนึ่ง แต่ควรสนทนากับทุก ๆ คนและพยายามให้การสนทนาลงรอยกันไม่ให้เกิดความเครียดหรือความขัดแย้งใด ๆ

4. ใช้ศิลปะในการสร้างมนุษย์สัมพันธ์
ศิลปะง่าย ๆ ในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ มีดังนี้
4.1 มีความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือผู้อื่น
4.2 มีความสดชื่นรื่นเริง
4.3 ไม่เห็นแก่ตัว
4.4 มีความเยือกเย็น
4.5 มีความสม่ำเสมอ
4.6 รับฟังผู้อื่น
4.7 ทำตัวง่าย ๆ ไม่เป็นกันเอง
4.8 เป็นคนเปิดเผย
4.9 มีความอดทน
4.10 สุภาพอ่อนโยน
4.11 มีความเมตตากรุณา
4.12 ทักทายผู้อื่นก่อน
4.13 จำชื่อผู้อื่นให้ได้มากที่สุด
4.14 ตอบรับเมื่อได้รับคำชม
4.15 มีอารมณ์ขัน
4.16 มีความจริงใจ

โหงวเฮ้ง - ลักษณะของผู้ชาย ที่ผู้หญิงจะเลือกไว้เป็นคู่ครอง

1. ลักษณะของผู้ชายหลายใจ
ขั้นแรกสังเกตดูที่บริเวณหางตา (ตำแหน่งคู่ครอง, ความรัก) ถ้าบริเวณหางตาสมบูรณ์สดใส แววตาอ่อนโยนนุ่มนวลแต่ยั่วยวน แสดงว่าเจ้าชู้ ความรักไม่แน่นอน ใบหูแนบติดกับศรีษะ มองจากข้างหลังใบหูไม่เห็นโคนคาง การเคลื่อนไหวช้าแต่ไม่เลื่อนลอย พูดจาช้าแผ่วเบา แสดงว่าเป็นคนหลายใจ

2. ลักษณะของผู้ชายใจดำ
คิ้วใหญ่แววตาแห้ง กระดูกโหนกแก้มสูง ปลายจมูกแหลม กระดูกโคนคางนูนออก มองข้างหลังใบหูเห็นกระดูกโคนคาง พูดจาเร็วกระชั้นถี่ นิสัยใจร้อนวู่วามทำการใดโลเล ไม่มีความอดทน เชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป เมื่อไม่พอใจใคร จะด่าหมูหมาแต่เป็นการกระทบคนอื่น ริมฝีปากเชิดชอบนินทา ใครว่ากล่าวตักเตือนไม่ได้จะมีปัญหา

3. ลักษณะของผู้ชายที่ข่มภรรยา
คิ้วสามเหลี่ยมกระดูกใหญ่ คิ้วกดลูกตา หางคิ้วเป็นเส้นตรง หางตาแห้งและจมต่ำ หรือหางตากว้างเกินไปจนเห็นเป็นสีเขียวหม่น หรือมีแผลเป็นหรือตำหนิ หรือที่หว่างคิ้วมีเส้นคู้สองเส้น โคนสันจมูกเล็ก หรือแห้งจมต่ำ หรือหางตามีเส้นยุ่งๆข่มภรรยา กระดูดโหนกแก้มสองข้างนูนเด่นชัด หรือโคนสันจมูกมีเส้นสีเหลือง ใบหน้าเหมือนถุงแป้งคอพอก ฟันเปิดล้วนข่มภรรยา หว่างคิ้วมีเส้นตรงสามเส้น โคนสันจมูกมีเส้นรูปหนวดสองเส้น กลางสันจมูกมีเส้นขวาง ถ้ามีหนึ่งเส้นข่มภรรยาหนึ่งคน ถ้ามีสองเส้นข่มสอง ถ้ามีสามเส้นข่มภรรยาทุกคน ดวงตาข้างซ้ายเล็ก หางตามีเส้น หรือมีเส้นรูปกากบาท หรือเป็นรูปเส้นไขว้ ภรรยาอาจจะต้องผูกคอตาย นัยน์ตาขาวเหลือง กระดูกแก้มแหลม ไม่กลมสะอาดหรือใบหน้าใหญ่แต่จมูกเล็ก หรือกระดูกจมูกแห้ง ชายหางตาแห้ง โคนจมูกมีไฝ ข่มภรรยาสองคน บริเวณชายหางตามีสีชั่วร้าย (มองเห็นได้) เป็นตำหนิบกพร่องเสียหาย ภรรยาจะต้องตาย ชายหางตาดำคล้ำ หว่างคิ้วมีไฝสีดำ ภรรยาจะแยกทาง

4. ลักษณะของผู้ชายที่มักมากในกาม
สังเกตได้จากคิ้วและดวงตา ถ้าคิ้วโค้งดวงตาดี คิ้วยุ่งสับสนดวงตากลอกกลิ้ง คิ้วโค้งปลายคิ้วแตก ล้วนแต่มักมากในกามคุณ คิ้วทั้งคู้โค้งหนาเป็นสี่เหลี่ยมยุ่งสับสน หรือดวงตาแดงระเรื่อเป็นมัน มักมากกามคุณ

5. ลักษณะของผู้ชายที่มีรักเดียวใจเดียว
มีคิ้วชัดเจนโปร่ง ดวงตามองตรง จมูกตั้งตรง พูดน้อยกัวเราะน้อย กิริยามารยาทเคร่งครัดเรียบร้อย ก้าวเดินเป็นระเบียบ เมื่อได้ยินคนอื่นสนทนาเรื่องสตรีก็ไม่สนใจ เป็นลักษณะของคนรักเดียวใจเดียวขนานแท้

6. ลักษณะของผู้ชายที่กลัวภรรยา
จะมีคิ้วที่โค้งแต่บาง ดวงตาดีพร้อมมีแววตา นัยน์ตาดำกับนัยน์ตขาวคลุมเครือ แววตาอ่อนแอเหมือนหวาดกลัวหรือตกใจ กระดูกโหนกแก้มแหลม หว่างคิ้วแคบ พูดจาแผ่วเบา นิสัยอ่อนโยนนุ่มนวลำม่มีการกระทำที่ร้อนวู่วามหรือดุร้าย ล้วนเป็นลักษณะที่เกรงภรรยา

7. ลักษณะของผู้ชายที่ชอบข่มเหงภรรยา
จะมีคิ้วหยายและดก ดวงตาแดงลูกนัยน์ตาเหลืองแววตาปรากฎแววโกรธเคืองเสมอ โหนกแก้มสูงโคนคางหนา ใบหน้าร้อนผิวหนังบาง บนในหน้ามีเนื้อลอย เป็นลักษณะที่ชอบข่มเหงภรรยา

8. ลักษณะของผู้ชายที่ดุร้าย
จะมีคิ้วสามเหลี่ยมสูงดกหนา ดวงตากลมโปนหรือแววตากลอกกลิ้ง จมูกเบี้ยวโหนกแก้มสูง ใบหน้าร้อนผิวหนังหยาบ ชายหางตาแห้งและหมองคล้ำ นิสัยมุทะลุ พูดจาร้อนรนและรวดเร็ว เป็นลักษณะของคนที่ดุร้าย

9. ลักษณะของผู้ชายที่หนักแน่น
จะมีคิ้วที่โค้งดวงตามีแววที่เมตตา จมูกตั้งตรงปากสี่เหลี่ยนมสีหน้าอ่อนโยน นิสัยหนักแน่น ตอบกับบุตรและข้าทาสด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม ไม่เจ้าชู้ ไม่โลภมาก ชอบสงบนิ่งไม่ชอบแหย่เย้ากระเซ้าพูดเล่นกับใคร ล้วนแต่เป็นสัญญลักษณ์ที่หนักแน่น

10. ลักษณะของผู้ชายที่ควบคุมยาก
ต้องมีใบหน้ากระดูกนูนแหลม นัยน์ตาโตสีเหลือง แววตามักปรากฎแววโกรธเคืองเสมอ จมูกแหลม โหนกแก้มสูงจมูกใหญ่ โคนคางกว้าง ปากใหญ่เสียงสูง นิสัยเย่อหยิ่งจองหอง ใจกล้ากำแหงหาญ ชอบคบหาสมาคม มีนิสัยติดสิ่งที่ไม่ค่อยดีหรือมีความสามารถรอบรู้แต่ชอบอวดโอ่ตนเอง หรือมีพลังแต่ทระนงตนเองเกินควร

11. ลักษณะของผู้ชายที่โกรธง่าย
มีใบหน้าหนาผิวบางคิ้วสามเหลี่ยมสูง แววตากล้าแข็งดุดัน หรือแฝงแววโกรธ นิสัยโลภถือทิฐิ การกระทำดุร้าย ไม่คำนึงถึงน้ำใจใคร ใบหน้ามีราศีที่เขียวมาก
เมื่อขัดใจเรื่องเล็กน้อยแต่โมโหมาก เป็นลักษณะของผู้ชายที่โกรธง่าย

12. ลักษณะของผู้ชายที่ได้ใหม่แล้วลืมเก่า
มีคิ้วสีเหลืองดกและคดงอ คิ้วโค้งแตกกระจายยุ่งเหยิงแววตากลอกกลิ้งชอบชำเลืองดู มองข้างหลังเห็นใบหูเห็นโคนคาง พูดเร็วแต่เลื่อนลอย การเคลื่อนไหววู่วามขาดสติ เวลาเดินชอบเหลียวหลัง นั่งเอียงกาย เป็นลักษณะที่ได้ใหม่แล้วลืมเก่า

13. ลักษณะของผู้ชายที่มีบุตรมาก
ตำแหน่งห่างจากร่องกลางริมฝีปากบน 6 หรือ 7 หุน ของชายใดอูมอิ่มและผ่องใส จะมีบุตรชายหลายคน (ชายและหญิงลักษณะเหมือนกัน)

14. ลักษณธของผู้ชายที่มีบุตรหญิงไม่มีบุตรชาย
ต้องมีจมูกเหมือนสันกระบี่ที่ห่างจากร่องกลางริมฝีปากบน 6 หรือ 7 หุน แหลมหรือเป็นหลุมลึก หรือปลายคางบกพร่อง หรือที่ดวงตาซ้ายขวามีราศีเย็นมากเกินไป หรือที่บนใบหน้ามีแผลเป็น ไฝและเส้นตำหนิมาก ล้วนแต่เป็นลักษณะของการไม่มีบุตรชาย (ชายและหญิงลักษณะเหมือนกัน)

15. ลักษณะของผู้ชายที่ไม่มีบุตร
ปลายคิ้วชี้ชันขึ้น ใต้ตามีขนอ่อน หนังตาล่างต่ำและมืดคล้ำ ใบหน้ามีแต่สันย่ย หนวดเคราแข็งทื่อ หนวดมากไม่มีผม
หนวดแยกออกเป็นหางนกนางแอ่น เป็นลักษณะของชายที่ไม่มีบุตรทั้งสิ้น

16. ลักษณะของผู้ชายที่ข่มบุตรชายและบุตรหญิง
บนหน้าผากมีเส้นขวางสามเส้น กระดูกคิ้วนูนขึ้นสูง คิ้วตั้งชันคิ้วคด กลางคิ้วมีเส้นเหมือนรูปหนวดสองแฉก หว่างคิ้วมีเส้นตั้งตรงแนวดิ่ง ตาเหลืองมีแววตากลอกกลิ้ง ร่องน้ำตาตรงหัวตามีแผลเป็น ใต้ตามีรูปเส้นกากบาทคู่ หนังตาบนสูงหนังตาล่างต่ำ ร่องน้ำตาที่หัวตาลึกและมีตำหนิ ร่องน้ำตาที่หัวตามีไฝ ขอบตาล่างเขียวคล้ำ หรือมีเส้นหรือแตก
โคนสันจมูกหัก บนจมูกมีเส้นขวาง กระดูดโหนกแก้มใหญ่และนูนสูง ใบหูไม่มีขอบ ร่องกลางริมฝีปากบนเอียงหรือสูงแหลม ปากเหมือนเป่าไฟรูปเหมือนคนร้องไห้ เสียงดุดันเหมือนหมาป่าหรือเสือร้าย ล้วนแต่เป็นลักษณะของผู้ชายที่ข่มบุตรชาย-หญิง

โหงวเฮ้ง...การดูลักษณะใบหน้าชาย

ชายใดที่มีรูปหน้าเสี้ยมและสั้น แก้มตอบ หน้าผากแคบหรือเป็นเหลี่ยม คิ้วดกสั้นเตื่อ จมูกเล็กปลายบาน ริมฝีปากหยัก เป็นคนปากร้าย มักสามหาวและเป็นนักเลงชอบหาเรื่องหรือข่มขู่ผู้อื่นแต่กับคนที่รู้ใจก้นจะ คบหาด้วยดี
ชายใดมีใบหน้าเสี้ยมยาม คางแหลม หน้าผากแคบ คิ้วห่างและสั้น จมูกยาวปลายแหลม ริมฝีปากไม่หนาไม่บางแต่ฟันซี่ใหญ่หรือห่างและสีไม่ขาวเป็นประกาย เป็น สับปลับมักหาแต่ประโยชน์ใส่ตัวหากประกอบกับมีลักษณะที่ไม่ดีอื่น เช่น ตาเข ตาส่อน คิ้วกังฉิน รูปร่างผอมเพรียว ผิวพรรณไม่มีราศรีผ่องใส จะเป็นกาลกิณี มักร้อยลิ้น มากเล่ห์ มักสร้างแต่ความเลวและความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น
ชายใดมีลักษณะใบหน้าเหลี่ยมยางทรงแคบ คิ้วยาว แก้มพอง ริมฝีปากหนาแต่เสมอกันทั้งบนและล่าง จมูกไม่ใหญ่ แต่เป็นสัน ร่าง สันทัดเป็นคนรู้มาก มักเอาเปรียบผู้อื่น ขี่โอ่และชอบอวดดัน ขี้ประจบ อ้อล้อ เจ้าชู้ แต่ไม่จริงใจและไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ เป็นคนที่คบหาไม่ได้ เพราะมักประจบสอพลอ พลอยให้เกิดความเสื่อมเสีย
ชายใดมีลักษณะใบหน้าสี่เหลี่ยม กระดูกแก้มสูง คิ้วดก ตาพอง จมูกยาว เป็นคนเรียบเรียบ ไม่ชอบสุงสิงกับใคร แต่ค่อนข้างเอาเรื่องเอาจริง ไม่ชอบเอาเปรียบใครและไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบตน
ชายใดมีใบหน้าสี่เหลี่ยม กระดูกแก้มสูง คิ้วดก ตาเล็ก หางตาเฉียงนิด ๆ จมูกยาวปลายแหลมริมฝีปากเสมอกันฟันซี่เล็กเรียงเสมอเป็นคนว่องไวแคล่วคล่อง แต่รู้มากชอบเอาเปรียบผู้อื่น เป็นคนเจ้าชู้ ปากเก่งอวดท่าโลดโผน แต่ไม่ค่อยจริงใจ มักขลาดเขลาไม่สู้คน